เปิดศึกกีดกัน 'สหรัฐ-อียู' ลุย ไทยถูกลูกหลง!
5 March 2018
กันการค้าโลก ปี 61 เดือด! แค่ 3 เดือนแรก คู่ค้าทั้ง ‘สหรัฐฯ-อียู-เวียดนาม’ ประกาศบังคับใช้มาตรการใหม่กระทบส่งออกสินค้าไทยแล้วถึง 10 รายการ ข้อมูลปีที่แล้วชี้ชัด! สหรัฐฯ ยุค ‘ทรัมป์’ ออกมาตรการกีดกันมากสุด 90 รายการ ขณะล่าสุด 14 คู่ค้า เปิดไต่สวนใช้ ‘เอดี / ซีวีดี / เซฟการ์ด’ 24 สินค้าไทย
นอกจากเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยมากสุดในขณะนี้แล้ว การออกมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของประเทศคู่ค้าที่ทยอยออกมาเพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวปฏิบัติตามกฎระเบียบ หากทำไม่ได้ย่อมหมายถึงการส่งออกที่อาจลดลง
รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลว่า ในปี 2560 ทั่วโลกมีการจัดทำมาตรการเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายใน รวมประมาณ 467 รายการ ในจำนวนนี้ 90 รายการ จัดทำโดยฝ่ายบริหารของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ได้จัดทำมาตรการใหม่เกี่ยวกับเรื่องของภาษีนำเข้า จำนวน 30 รายการ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) 20 รายการ เฉพาะมาตรการเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงถึง 17 รายการ คาดแนวโน้มการดำเนินการของสหรัฐฯ จะยังมีต่อเนื่องในปีนี้
สำหรับประเทศที่มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2560 ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี อาร์เจนตินา สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร (ตามลำดับ)
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คู่ค้าได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) และมาตรการอุปสรรคเทคนิคการค้า (TBT) ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม มีผลบังคับใช้แล้วช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ รวม 10 มาตรการ แบ่งเป็นสหภาพยุโรป (อียู) 5 รายการ สหรัฐฯ 4 รายการ และเวียดนาม 1 รายการ
ตัวอย่างมาตรการของอียู เช่น ในสินค้าสารเจือปนอาหาร ตามระเบียบ (EU) No 1107/2009 โดยผลิตภัณฑ์อารักขาพืชที่มีส่วนผสมของสาร Oxasulfuron จะถูกยกเลิกวางจำหน่ายในตลาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2561 ส่วนสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้กฎหมาย Seafood Import Monitoring Program กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าประมงมายังสหรัฐฯ ต้องรายงานข้อมูล และจัดเก็บบันทึกข้อมูลการนำเข้าสินค้าประมงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น ปลาแอตแลนติกคอด ปลาอีโต้มอญ ปลาเก๋า ปูคิงแครบ ปลากะพงแดง ปลาทูน่า เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. 2561 รวมถึงยังได้ประกาศใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) โดยขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์แล้วตั้งแต่ ม.ค. 2561
ส่วนเวียดนาม ในสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ก.พ. 2561 ซึ่งกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามแล้วในเวลานี้
“มาตรการทางการค้าของปีนี้คงจะเข้มขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ นอกจากมาตรการด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เคยทำมาโดยตลอดจะเข้มขึ้น ในด้านของปริมาณการนำเข้า ซึ่งเห็นได้จากมาตรการเซฟการ์ดที่ได้เริ่มใช้ในหลายสินค้ามากขึ้น มาตรการอเมริกาเฟิร์สที่เน้นให้ประโยชน์ผู้ผลิตในประเทศ โดยกำหนดภาษีนำเข้าสูงขึ้น รวมถึงใช้มาตรการที่เข้มกว่านั้น คือ เอดี ซึ่งผู้ผลิตในประเทศต้องฟ้องร้องมาก่อน ส่วนในอียูยังเน้นมาตรการการค้าในเรื่องมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า สิ่งปลอมปนต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องไอยูยู ฟิชชิ่ง หรือควบคุมการจับสัตว์น้ำ ส่วนออสเตรเลียก็ยึดแนวทางเดียวกับอียู แต่ความเข้มข้นยังไม่สูงเท่า ซึ่งผู้ส่งออกไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”
ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2561 จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยจะลงนามในคำสั่งและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้เป็นต้นไป เรื่องนี้ได้สร้างแรงสะเทือนทั่ววงการส่งออกเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมทั่วโลก หลายประเทศคู่ค้าส่งสัญญาณว่า ถ้าสหรัฐฯ ใช้มาตรการลักษณะกีดกันทางการค้าเช่นนี้ ก็พร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโต้จากจีน
ขณะที่ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ณ เวลานี้มีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี 13 รายการ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) 1 รายการ และมาตรการเซฟการ์ด 10 รายการ รวม 3 มาตรการ 24 รายการ จาก 14 ประเทศ โดยคู่ค้าที่เปิดไต่สวนไทยมากสุด ได้แก่ สหรัฐฯ 4 รายการ, อินเดียและตูนิเซีย ประเทศละ 3 รายการ, จีน ออสเตรเลีย ปากีสถาน ประเทศละ 2 รายการ ส่วนไทยอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีกับ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอียิปต์ ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็น และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีน
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4-7 มี.ค. 2561 หน้า 02