การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) เมื่อ 17 ม.ค. 2561 เพื่อพิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งยืดเยื้อมาจากการประชุมนัดแรก ใช้ระยะเวลาหารือกันยาวนานร่วม 7 ชั่วโมงกว่าจะได้ข้อสรุป ล่าสุดบอร์ดไตรภาคี ชุดที่ 19 เคาะค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศในอัตรา 308-330 บาท โดยแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็น 7 กลุ่ม พร้อมข้อเสนอเพิ่มเติม 3 ข้อ เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการ รวมทั้งแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงานในอนาคต
มีผล 1 เม.ย. “ภูเก็ต-ชลบุรี-ระยอง” สูงสุด
นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการไตรภาคี กล่าวว่า ผลการประชุมบอร์ดไตรภาคีมีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ไล่ตั้งแต่ 308 บาท, 310 บาท, 315 บาท , 318 บาท, 320 บาท, 325 บาท และอัตราสูงสุด 330 บาท/วัน ปรับเพิ่มจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำเดิมที่กำหนดเมื่อ ม.ค. 2560 ที่มี 4 ระดับ คือ 300 บาท, 305 บาท, 308 บาท และ 310 บาท/วัน
ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยที่เคยมีอัตราเฉลี่ย 305.75 บาท/วัน ขยับขึ้นเป็น 315.97 บาท/วัน โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2561 เพื่อให้เวลานายจ้างปรับตัว
แชมป์ค่าแรงสูงสุดปีนี้เป็นของ 3 จังหวัด หัวเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชายทะเล คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ส่วนพื้นที่ที่อัตราค่าจ้างต่ำสุดคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี 308 บาท/วัน โดยระยองเป็นจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นสูงสุดที่ 22 บาท/วัน จาก 308 บาท เป็น 330 บาท/วัน
ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของการเป็นจังหวัดในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลต้องการจะส่งเสริมการลงทุน และหวังดึงดูดแรงงานฝีมือมายังพื้นที่ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งรวมนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจท่องเที่ยวเป็นทุนเดิม
เปิดโพยค่าแรงปี’61-กทม.เสียแชมป์
ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลอยู่ที่ 325 บาท/วัน จากเดิมเคยเป็นแชมป์ค่าแรงสูงสุดมาตลอด ในครั้งนี้ได้แค่รองแชมป์ สำหรับค่าแรงขั้นต่ำแต่ละพื้นที่ 1.กลุ่มจังหวัดที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 330 บาท/วัน มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง 2.ค่าจ้างขั้นต่ำ 325 บาท/วัน 7 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ฯลฯ 3.ค่าจ้างขั้นต่ำ 320 บาท/วัน 14 จังหวัด เช่น อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ฯลฯ
4.ค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาท/วัน 7 จังหวัด เช่น จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร ปราจีนบุรี ฯลฯ 5.ค่าจ้างขั้นต่ำ 315 บาท/วัน 21 จังหวัด เช่น นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง บึงกาฬ น่าน อ่างทอง ฯลฯ 6.ค่าจ้างขั้นต่ำ 310 บาท/วัน 22 จังหวัด เช่น สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช มหาสารคาม และกลุ่มที่ 7 ค่าจ้างขั้นต่ำ 308 บาท ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี
ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่ม 0.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ในปี 2561 นี้ จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพิ่มขึ้นราว 0.5% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจภาคบริการที่มักพึ่งพิงแรงงานไร้ฝีมือ และจ่ายค่าจ้างโดยอ้างอิงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลัก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร และที่พักแรม ธุรกิจผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และภาคเกษตรกรรม
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจอื่นที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มาก หรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือเป็นหลัก อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานด้วย
ทำให้ต้นทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.4 ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ธุรกิจที่มีทางเลือกค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SMEs จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่ามาตรการด้านภาษีจะมาช่วยลดภาระในครั้งนี้
3 แนวทางช่วยนายจ้าง-แรงงาน
ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับนายจ้างจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ประชุมไตรภาคีได้มีการยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม 3 แนวทาง ประกอบด้วย
1.การกำหนดโครงสร้างเงินเดือน/ค่าจ้าง โดยให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ต้องมีการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนชัดเจนเหมือนเช่นบริษัทขนาดใหญ่ เป็นหลักประกันให้ลูกจ้างเห็นอนาคต
2.กำหนดอัตราค่าจ้างแบบลอยตัวในบางพื้นที่ โดยให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ นำร่องใน 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะช่วยดึงดูดแรงงานมีฝีมือ ในทางหนึ่งจะช่วยผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
3.มาตรการลดหย่อนภาษี เป็นมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า
จี้รัฐคุมราคาสินค้า
ด้าน ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแบบพิจารณารายจังหวัด เนื่องจากการขึ้นค่าแรงอัตราเดียวกันทั้งประเทศขัดหลักวิชาการ เพราะแต่ละจังหวัดมีสภาพทางเศรษฐกิจและการเติบโตแตกต่างกัน บางพื้นที่มีอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตฯท่องเที่ยว หากค่าแรงเท่ากันจะไม่ดึงดูดแรงงาน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจจะหยุดชะงัก ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่การเติบโตไม่รวดเร็ว การขึ้นค่าจ้างที่สูงมากเกินไปจะกระทบต่อค่าครองชีพ
ส่วนประเด็นจะมีการไหลของแรงงานจากพื้นที่ที่ค่าแรงต่ำกว่าไปพื้นที่ที่ค่าแรงสูงกว่านั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะค่าแรงที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น แม่เหล็กดึงดูดจริง ๆ คือ การมีงานทำมากกว่า
ที่น่าห่วงกว่า คือ อัตราเงินเฟ้อ อาจจะมีตามมา เนื่องจากค่าแรงเพิ่มขึ้นเท่ากับต้นทุนการผลิตเพิ่ม ผู้ประกอบการอาจใช้เป็นข้ออ้างขึ้นราคาสินค้า ช่วงแรกรัฐบาลจึงต้องควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภค
ขณะที่นายสุรเดช ชูมณี กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง มองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีทั้งฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่การพิจารณาที่ประชุมใช้ข้อมูลภาวะเศรษฐกิจปี 2560 เป็นเกณฑ์ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของโครงการขนาดใหญ่อย่างอีอีซี และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ลูกจ้างอาจเสียเปรียบบ้าง อย่างไรก็ตาม หลังอีอีซีเดินหน้าได้เต็มที่จะสามารถปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มได้มากกว่านี้
ส่วนข้อเสนอเรื่องการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้างเสนอมานานแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องเงินเดือน รายได้ และกระตุ้นให้นายจ้างพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งชะงักมา 3-4 ปี ให้ก้าวทันเทคโนโลยี และมีแรงงานรองรับการลงทุนในอนาคต