หลังจาก 12 ชาติสมาชิก TPP บรรลุข้อตกลงกันแล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยกลับมาถกเถียงหาข้อสรุปกันอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ก็เคยถกกันมาแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เท่าที่รับฟังดูปรากฏว่าประเด็นใหญ่ที่หยิบยกกันมาพูดคุยกันก็คือ เราควรจะเข้าเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ ? โดยประเด็นนำที่พูดถึงบอกว่า การทำข้อตกลงทางการค้า TPPก็คือ สหรัฐอเมริกามุ่งหวังผลทางการเมืองมากกว่าทางด้านเศรษฐกิจ เพราะสหรัฐอเมริกากำลังสูญเสียดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชียไปมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศจีนได้เปิดประเทศ และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในขั้นสูง และจีนได้แผ่อิทธิพลครอบคลุมทั้งเอเชีย ทำให้สหรัฐอเมริกานิ่งเฉยไม่ได้
มุมมองดังกล่าวนี้ไม่ผิดแน่ เพราะสหรัฐฯสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียไปมาก ช่วงหลังจากทำสงครามกับประเทศอิรักเมื่อปี 2533 แต่จะจริงหรือที่สหรัฐฯมุ่งทำ TPP เพื่อหวังผลทางการเมือง ตรงนี้ยังเป็นข้อสงสัย ซึ่งผมมองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปรกติธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นครับ สหรัฐฯก็ต้องพยายามที่จะรวมกลุ่มการค้าเสรีและขยายการค้าเสรีอเมริกาเหนือให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันในภูมิภาคเอเชียก็จับกับเป็นกลุ่มๆ และทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันมากขึ้น จนดูเหมือนโลกนี้ต่อไปจะแยกเป็น 3 กลุ่ม จากยุโรปตลาดเดียว อเมริกาเหนือตลาดเดียว และอาเซียนบวก 3 ตลาดเดียว
จนกระทั่งแม้เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก รวมกับ 11 ชาติที่ทำข้อตกลงการค้า TPP รวมแล้วก็ยังไม่เท่ากับกลุ่มอาเซียนบวก 3 หรืออาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ในแง่ของประชากรรวมกันและปริมาณการค้าต่อกัน สหรัฐฯเดิมที่ก็จะทำข้อตกลง TPP มาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ชะงักไประยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาทำใหม่สมัยนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เพื่อขยายฐานการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ นอกกลุ่มเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
แต่การถกเพื่อหาข้อสรุปและบอกว่า เราคงไม่ร่วมกับ TPP ดีกว่า อย่างนี้ผมเห็นต่างครับ แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบในทางลบต่อสินค้าเกษตรไทยบางรายการ กระทบต่อสิทธิบัตรยา และอีกหลายประการ แต่ไม่มีทางเลือกใดดีกว่าการเข้าเป็นสมาชิก TPP ทั้งนี้เนื่องจากการเป็นสมาชิก TPP หมายถึงว่า ต่อไปการค้าระหว่างสมาชิกในกลุ่ม (แม้ 9 ประเทศยกเว้น สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโกไทยทำข้อตกลง FTA ไว้เรียบร้อยแล้ว) ภาษีส่งออกจะเป็นอัตรา 0 % เลยทีเดียว ซึ่งขณะนี้สินค้าไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯต้องเสียภาษีสูงมากหากไม่ได้รับข้อยกเว้นตามสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP ข้อเท็จจริงประการหนึ่งจากผลการศึกษาและงานวิจัยของรัฐบาลก่อนหน้าบ่งบอกชัดเจนว่า หากไทยเป็นสมาชิก TPP แล้ว จะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะเพิ่มขึ้น 1.54 % เพราะข้อตกลงดังกล่าวนี้จะทำให้ทั้งการค้าและการลงทุนระหว่างกันจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่หากไทยไม่เข้าร่วมแล้ว ไทยก็จะเสียศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศสมาชิก TPP แน่นอน
ประเด็นที่ไทยห่วงมากอีกประเด็นหนึ่งก็คือ หากไทยยอมรับเข้าร่วม TPP ไทยก็ต้องยอมรับในความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาด้วย และในนั้นจะให้การคุ้มครองผู้ประกอบการมากกว่าความตกลงทางการค้าโลกที่เคยทำกันไว้ เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยา และการคุ้มครองข้อมูลยา ซึ่งจะส่งผลให้ยามีราคาแพงคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท/ปี ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ค่าใช้จ่ายของรัฐเกี่ยวกับบริการด้านสาธารณสุขจะสูงขึ้นอย่างมหาศาล และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศในที่สุด
ซึ่งเรื่องนี้หากไทยไม่เข้าเป็นสมาชิก TPP แล้ว เราสามารถเลี่ยงการใช้ยาแพงได้จริงหรือ ? ข้อเท็จจริงทุกวันนี้ยาหลายชนิดก็แพงมากๆ อยู่แล้ว จะว่าแพงเพราะผู้ประกอบการสถานพยาบาลเพิ่มราคาขายกันเอง หรือบริษัทยาตั้งราคาสูงกันเองก็ตามที แพงชนิดที่คนธรรมดาสามัญตัดใจไม่ใช้ยาชนิดนั้นกันเลยทีเดียว และความจริงอีกประการหนึ่งเราไม่ควรลืมว่า บนข้อตกลงนั้นจะมีความร่วมมือในหลายๆ ด้านแก่กันด้วย หรือใช้ช่องทางการเจรจา FTA กับสหรัฐฯก็ได้ ใช้การต่อรองให้ค่าสิทธิบัตรยาต้องอยู่ในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนดอาจจะ 1 ปีหรือ 2 ปีก็ได้ เพื่อให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กัน หรือเพื่องานค้นคว้าวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และเมื่อมีผลกำไรแล้วก็แบ่งปันกัน ซึ่งเรื่องนี้หมายถึงเราต้องยอมรับว่า กว่ายารักษาโรคชนิดใหม่ๆ จะออกมา ต้องมีต้นทุนวิจัยมากมาย และเราต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรยาดังกล่าวด้วย ไม่ใช่จะไม่จ่าย และตามข่าวนั้นบอกว่าสิทธิบัตรยาถูกสมาชิกต่อรองให้ลดลงเหลือเพียง 8 ปีเท่านั้น
ส่วนการขยายสิทธิบัตรพืชและการผลักดันให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้เกษตรกรต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น 2-6 เท่า และเปิดช่องให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมกันอย่างต่ำ 100,000 ล้านบาท/ปี ประเด็นนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญกับความจริง ว่าจะกระทบกับเราแค่ไหน หากกระทบมากแล้วทำไม 4 ชาติในอาเซียนถึงยอมเข้าร่วม ตรงนี้ต้องหาคำตอบให้ได้เสียก่อนว่าจะกระทบกับเราแท้จริงแล้วจะมากหรือน้อยเพียงใด
ประเด็นว่าเกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรอย่างเสรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประเทศสมาชิกต่างพยายามผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรของตนเองไปทำตลาดกับประเทศในกลุ่ม เช่น สหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำด้านการผลิตทั้งหมูและไก่ ขณะที่สินค้าประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นเจ้าตลาดอยู่ ก็มีความพยายามทำตลาดสินค้าในประเทศต่างๆ ซึ่งนี้ก็เป็นเรื่องจริงที่ไทยจะได้รับผลกระทบบ้าง และนอกจากสหรัฐฯแล้ว ประเทศผู้ส่งออกเนื้อ น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล และพืชในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็จะสามารถส่งเข้าไปขายในตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็ทำข้อตกลง FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไปแล้ว แต่ข้อตกลงนั้นทำให้ภาคเกษตรไทยเสียหายมากมายจริงหรือ ?
ข้อตกลง TPP นี้กำหนดมาตรฐานขั้นสูง ซึ่งขั้นสูงนี้ก็ไม่ได้ริเริ่มจากสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯทิ้งไปกลางครัน ทำให้ 3 ชาติ ซึ่งประกอบด้วยชิลี สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ได้เดินหน้าทำ FTA ระหว่าง 3 ประเทศก่อน โดยมุ่งเน้นมาตรฐานขั้นสูงระหว่างกัน เริ่มมีการเจรจาตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2548 บรูไนได้ขอเข้าร่วมด้วย ต่อมาถึงได้มี 12 ชาติเข้าร่วมทำข้อตกลง TPP เมื่อสมาชิก 9 ใน 12 ประเทศรับได้ และมี 4 ประเทศในนั้นมาจากสมาชิกอาเซียนด้วย แล้วทำไมประเทศไทยจึงจะยอมรับมาตรฐานขั้นสูงนั้นไม่ได้หล่ะครับ
ทุกวันนี้ประเทศไทยได้ยกระดับมาจากเดิมเยอะมากทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมว่าแม้มีอะไรน่ากลัว แต่ในโลกของความเป็นจริง คนที่ยังรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ได้ อีกหน่อยก็ต้องปรับปรุงตนเองให้เข้ากับมาตรฐานใหม่ๆ นั้น เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ไงครับ เราจะนั่งดูโรงงานย้ายฐานการผลิตไปประเทศต่างๆ ดังที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ไหวเหรอครับ ความจริงแล้วเราต้องทบทวนดูกันบ้างนะครับว่า ทุกวันนี้เราเหลืออุตสาหกรรมอะไรบ้าง เราแน่ใจว่าอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ทำกำไรเป็นกอบเป็นกรรมให้แก่ประเทศมาตลอดและยั่งยืนมีอะไรบ้าง และอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องหากขาดซึ่งอุตสาหกรรมหลักแล้ว อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีของไทยก็จะตายไปด้วยในท้ายที่สุด หรือคิดว่าเราจะพึ่งเพียงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวที่ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตไปได้ ซึ่งนั่นจะจริงเหรอครับ