กลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นร้องถึง”ประยุทธ์” ขอให้ช่วยปกป้องผู้ผลิตในประเทศ หลังสมอ.ไฟเขียวอนุมัติใบอนุญาตเอกชน 2 ราย นำเข้าเหล็กเส้นจากจีน ทั้งที่ก่อนหน้านี้”จักรมณฑ์”เคยกำชับแล้วห้ามนำเข้า ชี้เหตุเหล็กจีนราคาถูก 2-3 พันบาทต่อตัน ตีตลาดแข่งขันไม่ได้ต้องปิดกิจการ วอนขอให้รัฐบาลทบทวนสั่งถอนใบอนุญาตนำเข้า
นายธนะ เรืองศิลาสิงห์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่-การผลิต บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศไทย เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ทางกลุ่มผู้ผลิตเหล็กฯกว่า 20 ราย จะเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อร้องเรียนให้มีการปกป้องผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศ เนื่องจากขณะนี้พบว่า ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ได้อนุมัติผู้ประกอบการเทรดเดอร์ จำนวน 2 ราย นำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากประเทศจีนแล้ว
ทั้งที่ทางกลุ่มผู้ผลิตเหล็กฯได้เคยทำหนังสือร้องเรียนรัฐบาลไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 สมัยที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับปากและกำชับไปยังสมอ.ให้ดูแลผู้ประกอบการภายในประเทศ ว่าจะไม่ให้มีการลงนามอนุญาตการนำเข้าเหล็กเส้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นอำนาจของเลขาธิการสมอ. เป็นผู้ลงนามอนุญาต แต่เมื่อดร.อรรชกา สีบุญเรือง มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และก่อนที่เลขาธิการสมอ.จะเกษียณราชการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลับพบว่าทางสมอ.มีการลงนามอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย สามารถนำเหล็กเส้นฯจากจีนเข้ามาได้
ดังนั้น ทางกลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต จึงได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอปกป้องและให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กเส้นอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดมาตรการในลักษณะเดียวกับประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วยการไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นเจือโบรอนหรืออัลลอยด์ใดๆ ตลอดจนระงับการออกใบอนุญาต การนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ที่สมอ.ได้ดำเนินการออกไปแล้ว
นายธนะ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นหากมีการอนุญาตให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตจากจีนเข้ามา จะส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศที่มีอยู่กว่า 50 ราย จะต้องปิดกิจการลง เนื่องจากราคาเหล็กที่นำเข้ามาจะมีราคาถูกกว่าราคาเหล็กเส้นในประเทศประมาณ 2-3 พันบาทต่อตันที่เป็นผลจากผู้ผลิตเหล็กเส้นในจีนมีเจตนาเจืออัลลอยด์ เพื่อจะได้รับการสนับสนุนพิเศษจากรัฐบาลในอัตรา 28 % ในการส่งออก และยังได้อานิสงส์จากการแจ้งพิกัดเป็นเหล็กเส้นเจืออัลลอยด์ ไม่ใช่เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทำให้ได้ประโยชน์จากการหลบเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรนำเข้าประเทศในอัตรา 5 % จึงทำให้เหล็กเส้นที่ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีอยู่ราว 2 .2 ล้านตันต่อปี แต่มีกำลังการผลิตในประเทศมากถึง 7 ล้านตัน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้ามาจากจีน
ทั้งนี้ หากไม่มีการปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ และปล่อยให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นอย่างไม่เป็นธรรมจะทำให้ไทยเปลี่ยนสภาพจากผู้ผลิตกลายเป็นผู้นำเข้าแทน ดังนั้น จะส่งผลให้ประเทศขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้นกว่าปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท และจะมีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรนำเข้า โดยการสำแดงพิกัดเป็นเหล็กเส้นเจืออัลลอยด์ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอีก 5 % จะทำให้ประเทศเสียรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1.8 พันล้านบาท โดยยังไม่รวมถึงการสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทเหล็กที่ต้องปิดกิจการ และสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา จากการถูกเลิกจ้างงานกว่า 2.5 หมื่นคน นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มจัดหาเศษเหล็ก วัตถุดิบ และผู้ให้บริการอื่นๆ เป็นต้น
ที่สำคัญ เนื่องจากเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เป็นสินค้าในมาตรฐานบังคับ ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) และเป็นส่วนประกอบหลักด้านโครงสร้างในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากปล่อยให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นจากจีนได้ จะยากต่อการควบคุมคุณภาพสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้โดยตรง หากนำเหล็กเส้นไปใช้งานแล้วเกิดปัญหา จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจะติดตามผู้รับผิดชอบจะเป็นไปได้ยาก เพราะส่วนใหญ่มีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3096 วันที่ 15-17 ตุลาคม พ.ศ. 2558