นอกจากไทยแล้วประเทศเวียดนาม ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการเตรียมตัวเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการเตรียมตัวทั้งภาคประชาชนและกิจการธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่
ในส่วนของการเตรียมตัวในระดับประชาชน สถานีวิทยุวอยซ์ออฟอเมริกา รายงานว่าทางการเวียดนามได้ส่งเสริมให้นักเรียนในประเทศเรียนภาษาประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย โดยในการสัมภาษณ์ Mr. Nam Anh นักเรียนคนหนึ่งที่เรียนภาษาไทย พบว่าเด็กหนุ่มชาวเวียดนามคนนี้เข้าใจภาพกว้างของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ดีทีเดียว
Mr. Anh บอกกับ วอยซ์ออฟอเมริกาว่าระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนชายแดนลาวและไทย พบว่ามีความคล้ายคลึงกับบ้านของเขาแถวสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงมาก “ประเทศต่าง ๆ ของอาเซียนมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่ประชาชนคิด ประชาชนในแต่ละประเทศต้องเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เข้าถึงอัตลักษณ์ความเป็นประชาชนของอาเซียน”
Mr. Anh บอกว่าเมื่อเรียนจบแล้ว หวังว่าจะได้ทำงานบริษัทของไทย ซึ่งกำลังขยายการลงทุนเข้ามาสู่ตลาดเวียดนาม
วอยซ์ออฟอเมริกา มองว่าการรวมเป็นหนึ่งประชาคมของ 10 ประเทศอาเซียน มีจุดประสงค์เพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ โดย 10 ประเทศเมื่อรวมกันเป็นตลาดเดียวในแบบของประชาคมยุโรปแล้ว จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกภายในปี 2563
ธุรกิจขนาดเล็กกลัวเสี่ยง
เมื่อมองทางด้านความเสี่ยงนักวิเคราะห์ระบุว่าธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามกำลังเป็นห่วงว่าการรวมเป็นตลาดเดียวจะทำให้พวกเขาต้องเจอกับการแข่งขันกับบริษัทใหญ่จากประเทศอื่น
ในเรื่องนี้ Mr. Hans-Paul Burkner ประธานบริษัท บอสตั้นคอนเซ้าติ้งกรุ๊ปฯ ซึ่งกำลังให้บริการคำปรึกษาต่อองค์กรต่าง ๆ ในการเตรียมตัวรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ กล่าวในที่ประชุม CEO Forum จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่กรุงโฮจิมินห์ซิตี ว่า “เป็นเรื่องปกติที่จะมีความวิตกกังวลเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ธุรกิจขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะ จากสิ่งที่บริษัทบอสตั้นฯพบในตลาดเกิดใหม่หลาย ๆ แห่งคือ ธุรกิจท้องถิ่นสามารถอยู่ได้อย่างดี”
Mr. Burkner บอกนักธุรกิจในเวียดนามว่า บริษัทท้องถิ่นในแต่ละประเทศต้องใช้ความได้เปรียบทางด้านความรู้ตลาด แหล่งวัตถุดิบที่ดี และความสัมพันธ์กับภาครัฐในการแข่งขันกับบริษัทจากประเทศอื่น
อย่างไรก็ดี วอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่ามีเสียงจากนักวิเคราะห์ท้องถิ่นว่าปัญหาของเวียดนามอยู่ที่การปรับความคิดของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ผู้ปกครองประเทศซึ่งคุ้นเคยกับการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาทำกิจการต่าง ๆ ทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำ และธุรกิจเอกชนที่มีอยู่ก็มีขนาดเล็กมาก ทำให้ไม่สามารถแข่งกับบริษัทต่างชาติ
Mr. Tran Viet Thai รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และนโยบายต่างประเทศที่ Diplomatic Academy กล่าวว่า “ธุรกิจเอกชนของเราส่วนมากมีขนาดเล็ก ไม่ทำธุรกิจเพื่อการส่งออกและใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย กิจการพวกนี้คงอยู่ไม่ได้ถ้าเผชิญกับแข่งขัน”
นอกจากธุรกิจเอกชนขนาดเล็ก แล้วธุรกิจที่มีความเสี่ยงว่าจะสู้บริษัทจากต่างชาติไม่ได้ คือธุรกิจค้ารถยนต์ น้ำตาลและพลาสติกที่จะสู้กับบริษัทของประเทศไทยไม่ได้ แต่ก็มีธุรกิจที่ได้เปรียบคือธุรกิจค้าอาหารทะเล สินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ไม้
Mr. Tran Dung ผู้ช่วยผู้อำนวยสถาบันโลจิสติกส์เวียดนามระบุว่า ธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่เวียดนามจะมีความได้เปรียบจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจคือ โลจิสติกส์ เนื่องจากเวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาวตลอดประเทศทำให้สามารถพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์สำหรับการขนส่งทางทะเลเชื่อมภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และตอนเหนือของทวีปเอเชียได้
นอกจากนี้จุดได้เปรียบอีกประการหนึ่งของเวียดนาม คือบรรยากาศการลงทุนเนื่องจากระบบการปกครองมีความมั่นคง ประเทศประชาธิปไตยอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์หรือไทย มีประชากร 90 ล้านคน เป็นคนหนุ่มสาวและมีการศึกษาดี
Mr. Tran Viet กล่าวสรุปว่า การเป็นอาเซียน จะเป็นก้าวเดินสำคัญที่ทำให้เวียดนามที่หลุดจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1990 และเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2550 เข้าสู่สังคมโลกได้อย่างราบรื่นในที่สุด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3094 วันที่ 8-10 ตุลาคม พ.ศ. 2558