เอกชนเครียด ผลเทียร์ 3 บัญชีดำค้ามนุษย์ ผวา "โอบามา"ประกาศคว่ำบาตรการค้าทำสูญตลาดสหรัฐฯ 6.9 แสนล้าน ขณะอียูขย่มซ้ำระงับเจรจาเอฟที-ตัดจีเอสพี คาดทุบส่งออกไปยุโรปปีนี้ติดลบ 10% กดดัน ก.พาณิชย์ขยับปรับเป้าส่งออกใหม่ สมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย ดีเดย์ 15 ก.ค.บุกก.แรงงานสหรัฐฯแจงข้อเท็จจริง ประธานหอต่างประเทศฟันธงกระทบแน่!
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติอย่างต่อเนื่อง หลังจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปรับลดอันดับการค้ามนุษย์หรือ TIPs Report ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ของประเทศไทยจากระดับ 2 ลงมาต่ำสุดอยู่ในกลุ่ม Tier 3 ล่าสุดกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ทบทวนการทำงานร่วมกับไทย พร้อมสั่งระงับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และยกเลิกการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศไทย รวมถึงอาจพิจารณาดำเนินมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
++จับตา"โอบามา" คว่ำบาตร
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการความยั่งยืนทางธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในเรื่อง TIPs Report นี้ ตามกฎหมายของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีมีอำนาจตัดสินใจว่าจะแซงก์ชัน หรือคว่ำบาตรไทยหรือไม่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศผล ทั้งนี้คงต้องจับตาว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามา จะตัดสินใจคว่ำบาตรการค้าไทยหรือไม่ หากคว่ำบาตรคาดจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งหมายถึงสินค้าไทยทุกรายการจะไม่สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ได้ และจะทำให้ตัวเลขส่งออกหายไป 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งปีจากปี 2556 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 6.94 แสนล้านบาท
ส่วนกรณีของอียูที่ระงับการเจรจาเอฟทีเอกับไทย รวมถึงอาจใช้รายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯมารณรงค์ไม่ให้ใช้สินค้าไทย รวมกับที่ในปีนี้ไทยถูกอียูตัดสิทธิจีเอสพีสินค้า 3 หมวดใหญ่รวมกว่า 50 รายการไปแล้ว คาดจะส่งผลให้ปีนี้มูลค่าการส่งออกของไทยไปอียูจะหายไปไม่ต่ำกว่า 10% จากปีที่แล้ว (จากปี 2556 ไทยส่งออกไปอียู 6.77 แสนล้านบาท) เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้กระทรวงพาณิชย์คงต้องทบทวนเป้าส่งออกปี 2557 ใหม่จากบวกอาจติดลบ
โดยนายบัณฑรู ยังระบุด้วยว่า ในปีหน้าสินค้าไทยจะถูกอียูตัดสิทธิจีเอสพีทุกรายการ และหากสหรัฐฯตัดสินใจคว่ำบาตรไทยจะเป็น 2 แรงบวกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ และอียูที่มีสัดส่วนรวมกัน 20% ของการส่งออกไทยในภาพรวมอย่างรุนแรง และเปิดโอกาสให้คู่แข่ง ทั้ง 2 กรณีไทยต้องส่งตัวแทนไปเจรจาเพื่อให้เขาทบทวนอย่างเร่งด่วน
++ลุยก.แรงงานมะกัน 15 ก.ค.สอดรับกับนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ที่ได้เปิดแถลงข่าว (24 มิ.ย.)ในนามสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย โดยระบุ ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ จะนำหลักฐานไปยื่นต่อกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯเพื่อยืนยันและให้พิจารณาถอดถอนอุตสาหกรรมกุ้ง และปลาทูน่าของไทย ออกจากบัญชีการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ซึ่งสหรัฐฯจะมีการทบทวนการประกาศกลุ่มสินค้าที่เข้าข่ายในเดือนกันยายนนี้
"ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะต้องรอดูท่าทีการพิจารณาตัดสินใจของประธานาธิบดีโอบามา ว่าจะพิจารณาผ่อนปรน หรือคว่ำบาตรไทยหรือไม่ภายใน 90 วัน ซึ่งยืนยันว่า กุ้งที่ส่งออกไปสหรัฐฯของไทยมาจากการเพาะเลี้ยงเท่านั้น ไม่มีปัญหาด้านการใช้แรงงานเด็กและบังคับแรงงานแต่อย่างใด เพราะมีการควบคุมด้วยกรมประมงและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้"
ส่วนกรณีที่อียูออกมาประกาศลดระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับไทยนั้นเท่าที่ดูเนื้อหาที่คณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ออกมาอย่างเป็นทางการให้ลงโทษไทยนั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงการเมืองมากกว่าการค้าและล่าสุดทางกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นความทางการเมืองไม่เกี่ยวกับการค้าที่คงเป็นไปตามปกติ
++ทูน่าชี้คนละเรื่องอย่าเหมาเข่ง
ด้านนายชนินทร์ ชริศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า การที่สหรัฐฯปรับลดอันดับไทยกระทบต่ออุตสาหกรรมทูน่าไทยเพียงเล็กน้อยและกระทบเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมทูน่าใช้วัตถุดิบนำเข้าเกือบทั้งหมด เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และมีการนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่อยากให้เหมารวมทุกอุตสาหกรรม แต่เรื่องดังกล่าวจะมีผลด้านภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ซึ่ง ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันชี้แจง และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคและผู้นำเข้าเข้าใจ
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 22% ของการส่งออกในภาพรวม (ปี 2556 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่ามูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯลดลง เพราะตลาดเริ่มอิ่มตัว และเศรษฐกิจชะลอตัว หากสหรัฐฯชะลอการนำเข้าสินค้าทูน่าจากไทย ก็เชื่อว่าไม่กระทบยอดส่งออกโดยรวมลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมทูน่ามีการส่งออกไปทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดเป็นหลัก จึงไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มสัดส่วนตลาดอื่นทดแทน
อย่างไรก็ดีในการไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงแรงงานสหรัฐฯวันที่ 15 กรกฎาคม ในคราวเดียวกันนี้ทางสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทยจะส่งตัวแทนไปพบกับสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลของสหรัฐฯ เพื่อลงนามความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทยด้วย
++ปลอบอย่าตระหนกเกินไป
ด้านนางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่าสินค้าประมงของไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี(ยังไม่รวมซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง) โดยมีสินค้ากุ้ง และทูน่า เป็นสินค้ากลุ่มใหญ่ ในเบื้องต้นไม่ส่งผลกระทบด้านการค้าระหว่างเอกชนของทั้ง 2 ฝ่ายมากนัก เพราะส่วนใหญ่ค้าขายกันมานาน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นคงต้องนำพิสูจน์เพื่อสร้างความมั่นใจให้คู่ค้ามากขึ้น อีกด้านอาจกระทบความช่วยเหลือแบบรัฐต่อรัฐ อาจกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคของรัฐบาลสหรัฐฯจากภาคเอกชนของไทย แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯมีธุรกรรมกับผู้ส่งออกไทยน้อยมาก
++ยังเร็วเกินประเมินผลกระทบ
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานกรรมการ บริษัท กำแพงแสน คอมเมอร์เชียล จำกัด ผู้ผลิตผัก-ผลไม้สดเพื่อส่งออก มีตลาดใหญ่ที่สหภาพยุโรป กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของอียู ที่ผ่านมาการนำเข้าผลไม้ของอียู จะมีมาตรฐานที่เข้มงวดมาก ทั้งในเรื่องสารเคมีตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในสินค้าส่งออก 22 ชนิด อาทิ กะเพรา โหระพา ยี่หร่า พริกหวาน พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู เป็นต้น คาดจากนี้ไปมาตรการของอียูจะมีความเข้มงวดมากขึ้น
เช่นเดียวกับนายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสับปะรดไทย ซึ่งมีตลาดหลักที่สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า สถานการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ทางผู้ประกอบการเข้าใจและต้องปรับตัวด้วยการหาตลาดใหม่มารองรับ และในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่หรือไม่นั้นยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผล
++บัวแก้วติงอียูด่วนสรุป
ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการเชิญนายเฆซูส มิเกล ซานส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าพบที่กระทรวงการต่างประเทศ(24 มิ.ย.)ว่า ได้กล่าวแสดงความผิดหวังต่อสหภาพยุโรป (อียู) กับมาตรการที่ออกมา เนื่องจากไม่สะท้อนถึงพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดของไทยว่ากำลังเดินหน้าตามแผนการเพื่อกลับสู่การเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวของอียู โดยไทยนั้นเปิดกว้างการพูดคุยหารือ
ขณะเดียวกันที่อียูระบุว่า ไม่มั่นใจกับแผนการทางการเมืองของไทยนั้น นายสีหศักดิ์กล่าวว่า อียูไม่ควรด่วนสรุปในขั้นนี้ เนื่องจากไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนงาน และควรติดตามดูการปฏิบัติตามแผน ซึ่งอียูควรแสดงความเข้าใจในฐานะมิตรประเทศ และเอาใจช่วยให้ไทยกลับเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว
++ไม่กระทบประชุมอาเซียน-อียู
ด้านเอกอัครราชทูตอียู กล่าวยืนยันกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศว่า ประกาศในครั้งนี้ไม่ใช่การคว่ำบาตร การค้าการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยวจะดำเนินไปอย่างเป็นปกติ พร้อมกับย้ำว่าอียูยังเล็งเห็นความสำคัญของไทย รวมถึงบทบาทของไทยในอาเซียน โดยมาตรการของอียูในครั้งนี้จะไม่กระทบการเข้าร่วมของไทยในการประชุมอาเซียน-อียูที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม
ในส่วนของการระงับการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และการลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement : PCA) นั้นปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวกับเอกอัครราชทูตอียูว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวที่จะมีต่อกัน ทั้งนี้ได้ขอให้ทางอียูทบทวนมาตรการต่างๆ โดยพิจารณาถึงมาตรการทางการเมืองที่ไทยกำลังดำเนินการ
นายสีหศักดิ์กล่าวอีกว่า การประกาศระงับการลงนามกรอบความตกลง PCA ของอียูกับไทยนั้นมอง เป็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีกว่าที่ประเทศสมาชิกอียูทั้งหมดจะผ่านการเห็นชอบ ดังนั้นการชะลอการลงนามออกไปจึงไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ ขณะที่กระบวนการเจรจาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยและอียูนั้น ไม่ได้ถูกระบุไว้ในประกาศดังกล่าว เชื่อว่าการหารือและเตรียมการในส่วนนี้จะดำเนินต่อไป
++ปธ.หอต่างประเทศชี้กระทบแน่
ขณะที่นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) กล่าวว่า ในฐานะประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย ได้เคยหารือกับสมาชิกในส่วนของหอการค้ายุโรปแล้ว พบว่า การค้าขายระหว่างไทยและประเทศในอียูคงจะได้รับผลกระทบจากท่าทีของอียูในครั้งนี้อย่างแน่นอน เพราะการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูจะแล้วเสร็จไม่ทันปี 2558 ที่สินค้าไทยจะถูกตัดสิทธิจีเอสพีทุกรายการ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีเวลาอีก 6 เดือน หรืออีกครึ่งปีก่อนที่จีเอสพีส่วนใหญ่จะหมดอายุลง หวังว่าคณะบริหารประเทศไทยจะตั้งใจอย่างมากที่สุดที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆให้อียูเข้าใจเพื่อให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับสมาชิกของหอการค้าเองมีความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆดีและยังมีความหวังว่าไทยจะผ่านพ้นความยากลำบากไปได้โดยเร็ว
++เชื่อไม่กระทบ 4 สินค้า
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เชื่อว่าไม่กระทบกับการยื่นขอถอดถอนสินค้า 4 ประเภท คือ กุ้ง ปลา อ้อยและเครื่องนุ่งห่ม ที่จะพิจารณาตัดสินในเดือนกันยายนนี้ เพราะไม่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แต่เป็นเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก ที่ขณะนี้ไทยได้ดำเนินการไม่ให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปอยู่ในพื้นที่ทำงาน ทั้งไร่อ้อย บ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และโรงงานเย็บผ้าแล้ว โดยผู้ประกอบการต่างๆได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
++ย้ำแก้ปัญหายึดศักดิ์ศรีประเทศ
ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุม คสช. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 3/2557 (24มิ.ย.57) โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุม ว่า ปัจจุบันงานของ คสช. มีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนให้มากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานของ คสช. ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ พร้อมกันนี้ ยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ ที่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงาน ทำให้งานของ คสช. เดินหน้าไปได้ แม้สหรัฐอเมริกาและยุโรป จะมีท่าทีคัดค้านการการเข้าบริหารงานของ คสช. อยู่บ้าง แต่ก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทย
++ไม่เชื่ออียู-สหรัฐฯ ตัดเชือกไทย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีประชุม "Improving Corporate Governance: Key to Advancing Thailand ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย ถึงปฏิกริยาที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป หรือ อียู ประกาศลดสถานะไทย จากกรณีการค้ามนุษย์ และการลดความสัมพันธ์ทางการค้า ว่า เชื่อว่าทั้งสหรัฐฯ และอียู ไม่น่าจะมีการตัดความสัมพันธ์ใดๆ จากประเทศไทย ซึ่งไทยเองก็จะต้องเร่งชี้แจง และแสดงความจริงใจให้เห็นว่าพยายามแก้ไขปัญหานี้ที่สะสมมานาน ด้วยการลงมือทำให้ชัดเจน โดยร่วมกันรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าไว้ ซึ่งสามารถเจรจาพูดคุยกันได้ และประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ปรับปรุงทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไข
รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาว่าจะออกมาตรการใดมากดดันไทย แต่ไม่น่าจะถึงขั้นคว่ำบาตรไทย เพราะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,960 วันที่ 26 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557