กรณีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2014 ซึ่งไทยถูกปรับลดอันดับจากกลุ่ม "Tier 2 Watch List" ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่ม "Tier 3" ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เรียกประชุมคณะกรรมการด้านการค้าและแรงงาน วานนี้ (24 มิ.ย.)
ภายหลังการประชุม นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในเรื่องดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนงานเร่งด่วน เพื่อชี้แจงปัญหาแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะจัดทีมออกไปพบปะทั้งภาครัฐบาล ผู้นำเข้า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้ากับไทยต่อไป โดยจะเริ่มชี้แจงที่สหรัฐก่อน จากนั้นจะไปที่ยุโรป
“กระทรวงพาณิชย์ขอเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ เพราะเกี่ยวข้องกับการค้า ถ้าไม่สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ก็อาจจะกระทบต่อการค้าได้ ในการจัดทีมงานไปชี้แจง เราจะไม่ทำคนเดียว แต่จะทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นางศรีรัตน์ กล่าว
ยันผู้ค้าสหรัฐยังทำการค้าร่วมกับไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในสหรัฐ ทั้งลอสแองเจลิส ไมอามี ชิคาโก นิวยอร์ก ได้ออกไปพบปะผู้นำเข้ารายสำคัญในพื้นที่ที่ตัวเองดูแลแล้ว โดยผู้นำเข้าได้ยืนยันที่จะทำการค้ากับไทยต่อไป ไม่มีการบอยคอตสินค้าไทย แสดงให้เห็นว่าภาคเอกชนของสหรัฐยังมีความเชื่อมั่นต่อไทย
นอกจากนี้ สมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐ ยังได้ออกแถลงการณ์และยืนยันที่จะทำการค้ากับคู่ค้าไทย ที่มีมาตรฐานด้านแรงงานต่อไป และรับที่จะไปช่วยสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในสหรัฐว่ามีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไรด้วย
“ปัญหาเรื่องการค้า ไม่น่าจะมี แต่คงจะมีในแง่จิตวิทยาบ้าง ซึ่งเราต้องเร่งแก้ไข และสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา” นางศรีรัตน์ กล่าว
ส่วนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านแรงงาน เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐ จะตัดความช่วยเหลือในด้านที่ไม่ใช่มนุษยธรรม และที่ไม่ใช่การค้า กระทรวงการต่างประเทศของไทยกำลังดำเนินการอยู่ โดยมั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ได้ เนื่องจากบางประเด็นก็เป็นเรื่องเก่า หรือบางเรื่องเป็นเรื่องที่หยิบเอามาจากข่าว
บินชี้แจงสหรัฐขอถอนทูน่า-กุ้ง จาก TIP Report
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ในฐานะ ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย เปิดแถลงข่าว"ความจริงเรื่องกุ้งไทย" ว่า จากที่สหรัฐ ลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ของไทยอยู่ในขั้นต่ำที่สุด หรือ "Tier 3" นั้น เดือนก.ค. นี้ ทางผู้ประกอบการร่วมกับทีมไทยแลนด์ จะเดินทางไปชี้แจงข้อมูลห่วงโซ่การผลิตสินค้ากุ้งและทูน่าต่อสหรัฐ เพื่อขอให้กระทรวงแรงงานของสหรัฐ พิจารณาถอดถอนสินค้าทูน่าและกุ้งของไทยออกจากบัญชี TIP Report และจะเดินทางต่อไปยังสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการค้าของไทย หลังจากอียูประกาศคว่ำบาตรทางการเมืองกับไทย
ทั้งนี้ในส่วนของการยื่นถอดถอนกุ้งกับทูน่าออกจากTIP Report นั้น ผู้ประกอบการของไทยมีความพร้อมมากในด้านข้อมูล เรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกกระบวนการผลิต ในส่วนของกุ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการ มีการปรับกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในด้านความความปลอดภัยของอาหาร หรือ ฟู้ดเซฟตี้
ยันทุกโรงงานผลิตได้มาตรฐาน
ดังนั้น ทุกโรงงานที่ผลิตกุ้งต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐานการผลิตที่ดีและเหมาะสมหรือGMP และมาตรฐานการวิเคราะห์จุดอันตรายที่จุดวิกฤติของกระบวนการผลิต หรือ HACCP ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงต้องมาตรฐาน การเพาะเลี้ยงกุ้งที่ดีและเหมาะสม ฟาร์มที่ไม่มีการปรับปรุงจะได้รับการลงโทษ โดยจะไม่รับซื้อผลผลิตนั้นๆ
“กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดขึ้นไปอีกระดับ โดยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกกระบวนการผลิต การเลี้ยงกุ้งจะต้องสามารถตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบอาหารกุ้งหรือปลาป่นได้ด้วย “ นายพจน์ กล่าว
รับใช้แรงงานต่างด้าวแต่ถูกกฎหมาย
ด้านแรงงานต้องยอมรับอุตสาหกรรมประมง ต้องใช้แรงงานต่างด้าวเกือบทั้งหมด เนื่องจากแรงงานไทยไม่ทำ ส่วนหนึ่งเพราะสินค้าประมงมีกลิ่นเหม็น การขาดแคลนแรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการต้องง้อแรงงานต่างด้าว ให้สวัสดิการที่ดี ผ่านขั้นตอนการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย ความเป็นไปได้ที่จะใช้แรงงานเถื่อนมีน้อยมาก ที่สำคัญคือผู้ประกอบการกลัวแรงงานเหล่านี้หนีกลับประเทศด้วยซ้ำ
ส่วนปลาป่น ที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากเศษปลาที่เหลือใช้จากการผลิตปลากระป๋อง ซึ่งปลาที่เหลือเหล่านี้มาจากทูน่าที่ไทยซื้อจากเรือของสหรัฐ อียู ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นส่วนใหญ่ ส่วนวัตถุดิบปลาป่นที่มาจากเรือไทยเป็นส่วนน้อยและได้จากเรือที่จดทะเบียนไทย
ท้าเอ็นจีโอทั่วโลกพิสูจน์ความจริง
จากข้อเท็จจริงในห่วงโซ่การผลิตกุ้งทั้งหมด ผู้ประกอบการไทยกล้าท้าพิสูจน์โดย เอ็นจีโอ ทั่วโลก และเชิญผู้นำเข้าทุกราย มาให้การรับรอง โดยสิ้นเดือนก.ค. นี้ กลุ่มห้างสรรพสินค้าของสหรัฐ หรือ คอสโก จะเข้ามาตรวจเยี่ยม รับทราบข้อเท็จจริงตามที่สมาพันธ์ได้ประสานงานผ่านสถาบันอาหารสหรัฐ (NFI)
“อุตสาหกรรมกุ้งมีการอุดช่องโหว่ทุกจุด เพื่อให้สามารถตรวจสอบกระบวนการจับปลา โดยเรือประมงบางส่วนที่อยู่นอกระบบ เป็นเรื่องของกรมประมงที่ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง เหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงกุ้งและทูน่า" นายพจน์ กล่าว
นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย การจัด TIP Report ของสหรัฐดูเหมือนจะมุ่งโจมตีมาที่สินค้าประมงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตปลาป่น ซึ่งไทยมีโรงงานปลาป่น 90 แห่ง ปัจจุบันได้ปรับปรุงได้มาตรฐาน GMP และ HACCP ไปแล้ว 74 แห่ง คิดเป็น 70% ของโรงงาน ที่ได้รับการรับรองและสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แรงงานที่ใช้ในโรงงานปลาป่นเป็นแรงงานข้ามชาติ 80% มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมสวัสดิการแรงงาน ไม่มีการใช้แรงงานทาส เป็นเรื่องเก่ามากที่สหรัฐหยิบมากล่าวหา
ยันทูน่าไม่เกี่ยวการใช้แรงงาน
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า การค้าของไทยกับอียู และสหรัฐ ของสินค้าทูน่าคิดเป็น 35% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเป็นอียู 13,000 ตัน และ สหรัฐ 22,000 ตัน การที่สหรัฐปรับลดอยู่ระดับ "Tier 3" จะกระทบต่อการส่งออกทูน่าไทยเล็กน้อย เพราะทูน่าเป็นสินค้าพื้นฐานที่ยังต้องบริโภค แต่จะมีผลด้านภาพลักษณ์ของทูน่า ที่ไม่เกี่ยวข้องเลยกับการใช้แรงงานทาส แต่ต้องมาอยู่ใน TIP Report เพราะว่าอยู่ในกลุ่มสินค้าประมงเท่านั้น
ทั้งนี้ การผลิตทูน่าของไทย มีเพียง 17 โรงงาน การผลิตต้องนำเข้าทูน่าประมาณ 8-9 แสนตันต่อปี ทำให้มีเศษปลาป่นเหลือป้อนโรงงานปลาป่นประมาณ 7 หมื่นตันต่อปี วัตถุดิบทูน่า 100 % มีการจับโดยเรือจองสหรัฐ อียู ญี่ปุ่น ถูกต้องกฎหมาย การจัดลำดับ TIP Report ครั้งนี้จึงไม่อยากให้เหมารวมทุกอุตสาหกรรมในไทย ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันชี้แจงให้ผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าจากไทยเข้าใจ ทูน่าจะขอยื่นถอดถอนภายในเดือนส.ค. เพื่อให้ทันกับการพิจารณาเดือนก.ย. นี้
เอกชนบินเจรจาสหรัฐปลดล็อก "Tier 3"
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่าในการเดินทางไปชี้แจงรัฐบาลสหรัฐภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่ออธิบายอย่างสร้างสรรค์ ใช้ความเป็นจริงไปอธิบายมากกว่าการโต้แย้ง จากการพิจารณารูปการณ์ต่างๆ คาดว่าโอกาสที่จะถูกถอดออกจากบัญชี Tier 3 มีอยู่ 50:50 แต่ถ้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาช่วยเต็มที่โอกาสก็จะมีมากกว่า 50%
ส่วนการส่งออกปีนี้ ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายเดิม 2 แสนตัน มีมูลค่าประมาณ 6 -6.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้จะต้องจับตาว่าสื่อมวลชนสหรัฐจะไปขยายผลเรื่องนี้มากน้อยแต่ไหน ในทางกฎหมายสหรัฐไม่สามารถคว่ำบาตรประเทศไทยได้ เพราะผิดหลังกฎหมาย แต่สื่อเขาประโคมข่าวที่รุนแรงเกินความเป็นจริง ทำให้กระทบต่อภาพพจน์สินค้าของไทยจนทำให้ยอดขายลดลงได้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าในส่วนของผู้นำเข้าสหรัฐทุกบริษัท ต่างเดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงงาน และฟาร์มกุ้งทุกแห่ง โดยผู้ซื้อสหรัฐรู้ดีว่าไทยผลิตกุ้งมีความปลอดภัยสูงในทุกๆ ด้าน มีสภาพแวดล้อมที่ดี
การค้าขายยังเกิดขึ้นปกติ
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสอบถามสมาชิก พบว่าภาคธุรกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐ ลดอันดับการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย การค้าขายยังปกติ เพราะภาคธุรกิจไม่ได้ทำการค้ากับรัฐบาลสหรัฐ ทำกับภาคเอกชน ระหว่างเอกชนด้วยกันก็ไม่มีปัญหา แต่ก็ต้องระวังว่าเอกชนสหรัฐจะแอนตี้ หรือกีดกันสินค้าจากไทยหรือไม่ เพราะหากเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหาย
"แม้กรณีนี้จะยังไม่กระทบต่อการค้า แต่ต่อจากนี้ภาครัฐ และเอกชนต้องร่วมกันปรับปรุง ดูแลจัดการสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ยังมีเวลาที่จะปรับปรุง"
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบต่อการค้า จากกรณีสหรัฐลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทย และกรณีอียูอาจจะคว่ำบาตรไทย เท่าที่สอบถามสมาชิก ส.อ.ท.และคู่ค้า หรือบริษัทที่ดีลด้วย ยังไม่ได้มีปัญหา คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ที่มา : website กรุงเทพธุรกิจออนไล