ส่งออกกุ้งครึ่งหลัง ฝ่าด่าน 6 ปัจจัยเสี่ยง โรค EMS ตัวแปรใหญ่ ชี้หากผลผลิตกุ้ง ไตรมาส 3 ยังไม่ฟื้นจ่อนำเข้าจากอินเดียมาแปรรูปช่วยเพิ่มยอด ลุ้นระทึกสหรัฐฯประกาศสถานะค้ามนุษย์รอบใหม่รอด-ไม่รอดบัญชีดำ ขณะค่าบาทยังไม่น่าไว้ใจ จี้รัฐเตรียมเงินหมื่นล้านช่วยสภาพคล่องทั้งวงจร "พจน์" ชี้อุตสาหกรรมขาลงรอบ 25 ปี
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่มีกุ้งเป็นสินค้าหลักว่า ขณะนี้ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายในและนอกประเทศใน 6 เรื่อง เรื่องแรก ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และมีราคาแพงจากผลกระทบกลุ่มอาการตายด่วน(EMS)ในกุ้งที่เกษตรกรเลี้ยง ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว คงต้องดูว่ากุ้งที่เลี้ยงตั้งแต่เดือนมีนาคม หรือเมษายนที่ผ่านมาและจะสามารถจับได้ในเดือนมิถุนายนจะมีอัตรารอดมากน้อยเพียงใด ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้หากผลผลิตกุ้งที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจะช่วยให้การรับคำสั่งซื้อและการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ปรับตัวดีขึ้น จากสองไตรมาสหรือช่วงครึ่งปีแรกคาดตัวเลขจะยังออกมาไม่ดี เพราะวัตถุดิบมีน้อย ทำให้ไม่มีสินค้าเก็บสต๊อก หากผลผลิตกุ้งในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ยังมีแนวโน้มที่ยังไม่ดีขึ้น หรือขาดแคลนหนักอาจต้องมีการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ เช่นกุ้งอินเดียที่มีผลผลิตที่ดีเข้ามาผลิตส่งออก ซึ่งล่าสุดทางสมาคมได้ประสานกับกรมประมง และกรมการค้าต่างประเทศในการเตรียมความพร้อมในเรื่องการนำเข้า ทั้งการตรวจสอบคุณภาพที่ต้องไร้สารตกค้างรวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้า
เรื่องที่ 2 การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมทำให้ต้องพึ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องที่ 3 ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง เรื่องที่ 4 ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ยังไม่น่าไว้ใจว่าจากนี้ไปจะแข็งค่าขึ้นอีกหรือไม่ หรือมีความผันผวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะกระทบต่อการรับคำสั่งซื้อ และการกำหนดราคาซื้อขาย
เรื่องที่ 5 เป็นปัจจัยจากภายนอก ที่ล่าสุดไทยถูกสหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีการอุดหนุน(ซีวีดี)อุตสาหกรรมกุ้งเบื้องต้นในอัตรา 2.09% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2556 และจะพิจารณาประกาศผลครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 สิงหาคม 2556 ซึ่งหากไทยต้องเสียภาษีซีวีดีจะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เรื่องที่ 6 อุตสาหกรรมประมงไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกโจมตีจากต่างประเทศว่ามีการกดขี่แรงงาน ซึ่งทางการสหรัฐฯอยู่ระหว่างการพิจารณา และจะประกาศสถานะประเทศไทยในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2555 ในเร็วๆนี้ ปัจจุบันไทยอยู่ในบัญชีประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Tier 2 Watch List) หากถูกพิจารณายกระดับสถานะที่รุนแรงขึ้นอาจถูกตอบโต้ทางการค้าได้
"ทุกปัญหาที่กล่าวมาทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง และนำไปสู่สภาพคล่องที่เริ่มติดขัดทั้งภาคผู้เลี้ยงกุ้ง และโรงงานแปรรูป เฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแปรรูปเบื้องต้นได้ปิดตัวไปแล้วจำนวนมากในเรื่องสภาพคล่อง เมื่อเร็วๆ นี้ทางสมาคมได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลผ่านทางกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการ"
ดร.พจน์ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมกุ้งไทยที่เคยผงาดและส่งออกได้เพิ่มขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แต่วันนี้อุตสาหกรรมเริ่มถดถอยสู่กราฟขาลง และเริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทุกปัญหาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคผู้เลี้ยง ภาคปัจจัยการผลิต และภาคโรงงานแปรรูปได้ร่วมมือกันแก้ไขทุกปัญหาอย่างเต็มที่
สำหรับในปี 2556 คาดการส่งออกกุ้งของไทยจะมีปริมาณไม่เกิน 3.5 แสนตัน จากผลผลิตรวมไม่เกิน 4 แสนตัน (ปี 2555 ส่งออก 3.2 แสนตัน มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท) ขณะที่สถาบันอาหาร คาดปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยในปีนี้สูงสุดไม่เกิน 3.5 แสนตัน และส่งออกประมาณ 2.4 แสนตัน ส่วนมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,855 วันที่ 23 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556