เวียดนามยังไม่สิ้นมนต์ขลัง ทัพธุรกิจไทยแห่ขยายการค้า-ลงทุนต่อเนื่อง ทูตพาณิชย์เผยรายใหญ่-รายย่อยจดทะเบียนแล้วกว่า 200 บริษัทใน 6 กลุ่มสาขาหลัก ขณะที่ส่งออกยังขยายตัวได้ดีตั้งเป้าปีนี้ขยายตัว 5% ชี้กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ไลฟ์สไตล์ เคหะสิ่งทอมีอนาคต
นางมาลินี หาญบุญทรง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า แม้เวลานี้ในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ผู้ประกอบการค้า และนักลงทุนไทยส่วนใหญ่จะให้ความสนใจในการเข้าไปขยายธุรกิจเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีใน 3 ประเทศแรก แต่ในส่วนของเวียดนามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังได้ให้ความสนใจในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ทั้งนี้จากข้อมูลของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ เปิดเผยว่า ล่าสุด มีบริษัทไทยได้ไปจดทะเบียนทำธุรกิจในเวียดนามแล้วประมาณ 200 บริษัท ส่วนใหญ่ลงทุนในเขตภาคใต้ โดยเฉพาะในนครโฮจิมินห์ จังหวัดบิ่นห์เยือง จังหวัดด่องไน และจังหวัดลองอัน โดยลงทุนใน 6 กลุ่มสาขาธุรกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มประมง และผลิตภัณฑ์อาหารทะเล กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค กลุ่มธนาคาร และกลุ่มธุรกิจบริการ
การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอมตะ และ Thai Hoa ลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มเอสซีจี ลงทุน 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ จัดจำหน่าย เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง กระดาษ และซีเมนต์ กลุ่มปตท. ใน 3 ธุรกิจหลักได้แก่ ปตท.สผ. PTTPM (Polymer) และ LPG กลุ่มศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หมวกกันน็อก กลุ่มยูนิไทยในธุรกิจโลจิสติกส์, กลุ่มอัลไลแอนซ์ วัน ตั้งโรงงานผลิตชุดและอุปกรณ์กีฬา, กลุ่มสตาร์ ปริ๊นท์ ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์
ส่วนในกลุ่มเกษตรกรรรม ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ในธุรกิจอาหารสัตว์ ทั้งอาหารสุกร ไก่ กุ้ง และปลา ธุรกิจฟาร์ม (ฟาร์มเพาะพันธุ์สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง และธุรกิจอาหาร (อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป), กลุ่ม Foodtech ในธุรกิจข้าวนึ่ง กลุ่ม K&H Trading ในธุรกิจอาหารสัตว์ เครือเบทาโกร ในธุรกิจอาหารกุ้ง กลุ่ม Tay Ninh Tapioca ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง และกลุ่ม SITTO ในธุรกิจปุ๋ยเคมี เป็นต้น
"ล่าสุดกลุ่มเบียร์สิงห์ กลุ่มไทยเบฟ ก็เริ่มที่จะเข้าไป คนที่ไปลงทุนในเวียดนามเป้าหมายคือ 1. เพื่อไปขยายฐานการผลิต ไปเอาวัตถุดิบ 2. ไปเพื่อขยายตลาดในเวียดนาม และ3. เพื่อใช้ฐานผลิตในเวียดนามส่งออกไปสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอื่นๆ ที่เขาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) และ4. ใช้ฐานในเวียดนามรุกตลาดอาเซียน ซึ่งสถิติการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในเวียดนาม(เอฟดีไอ) ณ ปัจจุบัน ไทยอยู่ที่ประมาณอันดับ 10 โดยผู้ที่ลงทุนในเวียดนามอันดับต้นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย"
นางมาลินี กล่าวอีกว่าธุรกิจที่น่าลงทุนในเวียดนามขณะนี้ที่มองว่ามีอนาคตอยู่ในกลุ่มโลจิสติกส์ เพราะเวียดนามมีเส้นทางเชื่อมโยงกับจีน รวมทั้งกลุ่มอาเซียนทั้งลาว กัมพูชา ผ่านไทยไปเมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียได้ รวมทั้งธุรกิจผลิตสินค้า อุปโภคต่างๆ
ด้านการค้าไทย-เวียดนามในปี 2555 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 9,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยไทยส่งออก 6,688 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 2,986 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยเกินดุลการค้าเวียดนาม 3,702 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม ประกอบด้วยเม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง สำหรับในปี 2556 นี้ตั้งเป้าการส่งออกของไทยไปเวียดนามขยายตัวที่ 5%
"คนเวียดนามชอบสินค้าไทยเพราะมีคุณภาพดี มีความทันสมัย และมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก โดยกลุ่มสินค้าไทยที่มองว่ามีศักยภาพส่งออกไปเวียดนามได้เพิ่มอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค กลุ่มสินค้าแฟชั่น และไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น เครื่องหนัง รองเท้า รวมถึงเคหะสิ่งทอพวกผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ปลอกหมอน มูลี่ และสินค้าตกแต่งภายใน เพราะอสังหาริมทรัพย์ ตึก ออฟฟิศ โรงแรมต่างๆ ยังขยายตัวได้อีกมาก"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,850 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556