ส่งออกกุ้งดิ้นสู้ซีวีดีสหรัฐฯ อีกเฮือก จ้างทนายยื่นข้อมูลแก้ต่างเพิ่ม หวังลุ้นประกาศผลรอบสุดท้าย 12 สิงหาฯ รอดถูกโขกภาษีทั้งประเทศ เบื้องต้นทุกบริษัทถูกบังคับให้วางบอนด์ค้ำประกันแล้ว ด้านทูตพาณิชย์ชี้น่าห่วงภาษีซีวีดีของไทยอาจขยับมากกว่า 2.09% วงการร่วงโรค EMS ทำผลผลิตกุ้งไทยวูบ อาจเป็นโอกาสกุ้งอินเดียรวมกุ้งอินโดฯผงาดแซงหน้าไทยในตลาดสหรัฐฯเป็นครั้งแรก
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดสมาคมได้จ้างทนายความต่อสู้คดีอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาได้สรุปผลการพิจารณาและได้ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน(ซีวีดี)ในเบื้องต้นสำหรับสินค้ากุ้งนำเข้าจาก 5 ประเทศในอัตราภาษีรวมของแต่ละประเทศในอัตราที่แตกต่างกัน ได้แก่ไทย 2.09% อินเดีย 5.91% เวียดนาม 6.07% มาเลเซีย 62.74% จีน 5.76% ขณะที่อีก 2 ประเทศคืออินโดนีเซียและเอกวาดอร์ ไม่ถูกเรียกเก็บภาษี
"การตัดสินยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ ทางสหรัฐฯได้เปิดให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง(ช่วงระหว่างวันที่ 10-14 มิ.ย.) ก่อนจะมีการประกาศผลการตัดสินครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 สิงหาคม 2556 ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จะได้นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหักล้างข้อกล่าวหา หากที่สุดแล้วเราถูกเรียกเก็บภาษีเฉลี่ยต่ำกว่า 2% ก็จะหลุดไม่ต้องเสียภาษีซีวีดีทั้งประเทศ"
ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริการายงานว่า ตามที่องค์กร The Coalition of Gulf Shrimp Industries (COGSI) ได้กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมกุ้งใน 3 ประเด็นหลักได้แก่ 1. ผู้ส่งออกกุ้งไทยที่เสียภาษีส่งออกได้รับเงินคืนจากกรมสรรพสามิตในอัตรา 0.13% 2. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ของไทยได้ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมกุ้งทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมกุ้งลดลง 2% และ 3. บีโอไอยังได้ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรให้กับอุตสาหกรรมกุ้งถือเป็นการเข้าข่ายการอุดหนุนอ้างเป็นเหตุให้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเพื่อให้ดำเนินการไต่สวน และจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนผู้ส่งออกกุ้ง 7 ประเทศเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555
"ทุกบริษัทจะต้องวางบอนด์กับศุลกากรสหรัฐฯมีมูลค่าตามอัตราภาษีซีวีดีที่กำหนด นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
สำหรับการเก็บภาษีซีวีดีจากสินค้ากุ้งจาก 5 ประเทศข้างต้นในครั้งนี้คาดจะทำให้สหรัฐฯมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 6 พันล้านบาท) โดยประเมินจากมูลค่าการนำเข้าในปี 2555 และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงการอุดหนุนตามรายงานของผู้ส่งออกในแต่ละประเทศเพิ่มเติม หากข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกับตามที่รายงานจะมีผลต่อการเพิ่มอัตราภาษีซีวีดี ที่จะประกาศผลครั้งสุดท้ายได้ ซึ่งการเสียภาษีซีวีดีจะเป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมกุ้งของไทยที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาผลผลิตและการส่งออกลดลงจากปัญหากลุ่มอาการโรคตายด่วน(EMS)
ขณะที่ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ให้ความเห็นว่า เรื่องภาษีซีวีดีจะทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบประเทศที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเล็กน้อย แต่เรื่องที่น่าห่วงและจะส่งผลกระทบมากกว่าคือโรค EMS ที่เวลานี้ทำให้ผู้ประกอบการแปรรูปกุ้ง(ห้องเย็น)ขาดแคลนกุ้งในการผลิต และต้องซื้อกุ้งในราคาแพงเสียเปรียบคู่แข่งขัน
"ที่น่าจับตามองในเวลานี้คืออินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกกุ้งเข้าสหรัฐฯเป็นอันดับสองรองจากไทย(มีปริมาณครึ่งหนึ่งของไทย) ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ปริมาณส่งออกของเขาไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นถึง 83% หากรวมกับอินโดนีเซียที่อยู่ลำดับที่ 3 ปริมาณส่งออกจาก 2 ประเทศรวมกันทั้งปีนี้อาจแซงไทยเป็นครั้งแรกได้"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,851 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556