ผู้ส่งออก โวย 4 สายเดินเรือต่างชาติทำเนียน ยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดท่าเรือ ทั้งที่การท่าฯได้ดำเนินการแก้ไขจนสำเร็จลุล่วงแล้ว เรียกร้องให้ยกเลิกเพราะเพิ่มต้นทุน วงการชี้ผลพวงค้าโลกทรุดช่วง 2-3 ปีผ่านมา บริษัทเรือขาดทุนต้องหารายได้เพิ่ม พร้อมฟันธงค่าระวางเรือเฉลี่ยทั้งปีนี้ใกล้เคียงปีที่แล้ว ไตรมาส 3-4 มีปรับ
แหล่งข่าวจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางสภาได้รับการร้องเรียนจากผู้ส่งออกว่าได้รับความเดือดร้อนจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นผลจากการที่เจ้าของหรือตัวแทนบริษัทสายเดินเรือต่างชาติที่ให้บริการรับส่งสินค้าบางสายยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดท่าเรือกรุงเทพ/คลองเตย (Bangkok Port Congestion Surcharge)ในอัตรา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต และ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อขนาดตู้ 40 ฟุต
ทั้งนี้เป็นผลพวงจากเมื่อปลายปี 2553 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้งดให้บริการท่าเทียบเรือบางส่วนของท่าเรือคลองเตยเพื่อปิดซ่อมรางปั้นจั่นยกตู้สินค้าบริเวณหน้าท่า และได้ใช้เวลา 2 ปีในการดำเนินการซึ่งถึง ณ ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จมานานแล้ว และท่าเรือได้กลับมาให้บริการคล่องตัวตามเดิม แต่ปรากฏมีสายเดินเรือบางสายยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวอยู่ โดยที่ได้รับการร้องเรียนได้แก่ สายเดินเรือของบริษัท RCL Container Line, บริษัท Hueng-A , บริษัท Hyundai และบริษัท Wan Hai
"ในการประชุมสภาผู้ส่งออกเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนได้ทวงถามกับตัวแทนบริษัทสายเดินเรือ แต่ปรากฏไม่มีผู้แทนจาก 4 สายเดินเรือข้างต้นเข้าร่วมประชุมทำให้ตอบแทนไม่ได้ว่าทำไมยังเรียกเก็บอยู่ ในเรื่องนี้วิเคราะห์ได้ว่าอาจจะมาจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้การค้าโลกหดตัว สายเดินเรือต่างๆ ประสบภาวะขาดทุนสะสมจึงยังมั่วนิ่มเก็บค่าความแออัดหน้าท่าอยู่"
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สายเดินเรือควรยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้แล้ว หากอยากมีรายได้เพิ่มควรไปเพิ่มด้านอื่นแทน เช่นเพิ่มค่าระวางเรือ เพื่อที่ผู้ใช้บริการจะได้ตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการสายเดินเรือใดที่ให้บริการที่ดีและคุ้มค่าเงินมากที่สุด พร้อมได้วิเคราะห์แนวโน้มค่าระวางเรือตลอดทั้งปีนี้ว่า ค่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว อาทิ สายยุโรปค่าระวางเรือต้นปีที่ผ่านมาอยู่ระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปี 2555 (ประมาณ 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้คอนเทนเนอร์) แต่ ณ ปัจจุบันค่าระวางเรือสายยุโรปได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 45% และในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้คาดว่าค่าระวางเรือสายยุโรป และอเมริกาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงไฮซีซันของการส่งออก
สำหรับการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกของไทยในแต่ละปีที่ผ่านจะมีตู้คอนเทนเนอร์เข้า-ออกผ่านทุกท่าเรือของไทยประมาณ 6-7 ตู้ต่อปี ในปีนี้น่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกัน โดยสายเดินเรือใหญ่ 3 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย Maersk Line ของเดนมาร์ก, MSC ของสวีเดน และ CMA CGM ของฝรั่งเศส
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,850 วันที่ 6 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556