เตือน"คลัง-ธปท."อย่ามัวแทงกั๊ก แนะดันมาตรการคุมบาท ติงแบงก์รัฐลดดอกเบี้ยตามอาร์/พีหวังผลต่อดอกเบี้ยธนาคารทั้งระบบ ชี้ความเสี่ยงไตรมาส2 มีทั้ง"บริโภค-ส่งออก"ชะลอตัว จับตาหนี้ครัวเรือนกดทับการบริโภค ค่ายม.รังสิตลุ้นผลกนง.ก่อนทบทวนเป้าทั้งปีเดือนมิถุนายน
ระหว่างลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 29 พฤษภาคมเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายช่วงที่เหลือ แม้ว่าไตรมาสแรกอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 5.3% หดตัว 2.2% ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์แต่การส่งสัญญาณประมาณการจีดีพีทั้งปีแผ่ว 0.3% เหลือ 4.2-5.2% ซึ่งตรงข้ามกับก่อนหน้าที่หลายสำนักวิจัยได้เปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจในเชิงบวก เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ปรับเป็น 5.3% จากเดิมอยู่ที่ 5.7% บนสมมติฐานค่าเงินบาทที่ 29.4 บาทต่อดอลลาร์ หรือช่วง 28.4 -3.40 บาทต่อดอลลาร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับเป็น 5.1% จากเดิมอยู่ที่ 4.9%
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงของการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะทางการไทยควรพิจารณาเชิงนโยบายที่ต้องให้ความมั่นใจภาคธุรกิจว่ารัฐบาลเอาจริง โดยเฉพาะต้องพิจารณาในแง่ของการใช้เงินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพระยะยาว เพราะตัวเลขสศช.ไตรมาสแรกหดตัวสะท้อนถึงการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในส่วนของธนาคารเพิ่งปรับประมาณการอยู่ที่ 4-4.5%จากต้นปีอยู่ที่ 4.5-5% เพราะมองกำลังซื้อในประเทศครึ่งปีหลังอ่อนแรงลงมาก
"เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของสศช.เป็นอย่างที่เห็น ก็เป็นช่องให้กนง.ลดดอกเบี้ย แต่อาจลด 0.25% ซึ่งไม่ช่วยเรื่องเศรษฐกิจ เพราะสัญญาณฟองสบู่ที่มีอยู่แล้ว ถ้าลดดอกเบี้ยอัตรามากๆจะยิ่งซ้ำเติมไปกันใหญ่"
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.)กล่าวว่าสัญญาณที่สศช.ให้ข้อมูลนั้นมีปัจจัยสำคัญๆของเศรษฐกิจทั้งปีมีแนวโน้มดี โดยไม่แย่อย่างตัวเลขการหดตัวเช่นไตรมาส1 โดยเฉพาะตัวเลขของอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เห็นได้จากการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่ขยายตัว 43.6% แม้แต่ภาคส่งออกหดตัวก็ไม่แย่มากนัก ขณะเดียวกันภาคธุรกิจยังมีการขยายและก่อสร้างเพิ่ม หรือการท่องเที่ยว ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 24.3% ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 73.8 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5ไตรมาสและเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 6 ปี ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น
"ที่สำคัญสศช.ยังปรับคาดการณ์จีดีพีลงแค่ 0.3% แม้ไตรมาสแรกจะหดตัว 2.2% โดยทั้งปียังมองเศรษฐกิจเติบโตที่ 4.8% แสดงว่าทั้งปียังไปได้ตามที่ประมาณการไว้ 4.2-5.2%
นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า เมื่อข้อมูลสศช.บอกเศรษฐกิจไม่ดี จึงเปิดโอกาสกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นการซื้อประกันให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเกิดปัญหา ซึ่งกนง.ค่อยๆ ทยอยปรับอัตราอาร์/พีได้เรื่อยๆ ถ้าดูสัญญาณปัญหาไม่ได้มาจากแนวหลักเศรษฐกิจหรือรอดูข้อมูล2 เดือนเพราะบางทีข้อมูลเดือนเดียวบอกอะไรไม่ได้หากระยะข้างหน้าข้อมูลกลับข้าง
สอดคล้องนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทยกล่าวว่า จากสัญญาณสศช.อาจเป็นปัจจัยให้กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แต่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้นขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักของบอร์ดกนง.ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคมหรือในการประชุมครั้งต่อไปเพื่อรอดูอาการไข้แล้วค่อยใช้กระสุนให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญกระทรวงการคลังคงต้องให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้ความร่วมมือลดดอกเบี้ยตามด้วยจึงจะทำให้เกิดประสิทธิผลต่อการส่งผ่านดอกเบี้ยธนาคารทั้งระบบ
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงที่เหลือยังมีความเสี่ยงเรื่องจังหวะและเวลาที่ต้องระวัง โดยเฉพาะไตรมาส2 ของปีนี้เป็นช่วงภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวดีขณะที่ภาคการอุปโภคบริโภคอ่อนแรงลงต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นก่อนหน้าทำให้ไตรมาส2 ขาดแรงผลักดันทั้งภาคการส่งออกและภาคการอุปโภคบริโภคซึ่งทั้ง 2ปัจจัยรวมกันมีผล 110%ของจีดีพี"
ขณะเดียวกันความเสี่ยงหลักครึ่งปีหลังทีเอ็มบีแบงก์ยังให้น้ำหนักหลักกับการบริโภคภาคเอกชนชะลออาจจะติดลบและมีประเด็นฐานสูงจากปีก่อนทำให้การขยายตัวภาคการบริโภคในปีนี้ทำได้ค่อนข้างยาก ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนก่อนหน้าเป็นการใช้จ่ายชดเชยจากอุทกภัยมีการใช้จ่ายสินค้าคงทนด้วยการผ่อนชำระในปีก่อนส่งผลให้เกิดภาระหนี้(หนี้ครัวเรือน)กดทับการบริโภคครึ่งปีหลังและต้องตัดลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆลง
ต่อข้อถามว่าอะไรจะเป็นความหวังช่วงที่เหลือนั้น นายเบญจรงค์กล่าวว่า ถ้าเงินบาทยังนิ่งที่ระดับ 29.5/8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะมีความหวังจากภาคส่งออก บนสมมติฐานว่าจะได้รับแรงช่วยจากตลาดสหรัฐฯยุโรป หรือจีน แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจยุโรปที่แย่ลงอาจส่งผลให้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน และภาครัฐเร่งโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.4 แสนล้านบาทเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจของ ม.รังสิต ยังมองว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ดี โดยอยู่ที่ 5.5-6.5% ซึ่งจะมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดจีดีพีลงประมาณ 0.5-0.8% โดยจะอิงผลประชุมบอร์ด กนง. ที่คาดว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากต้องการให้มีผลแล้วอาจต้องลดลงถึง 0.50% แต่หาก กนง.ประเมินว่าเศรฐกิจยังดี และไม่กังวลต่อภาวะเงินเฟ้อแล้วก็อาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,847 วันที่ 26-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556