นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับหน่วยงานที่ดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสรุปแนวทางและมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และต่อการดำเนินธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโดยรวมประเทศด้วย
“ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นระดับ 28 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยังยืนยันตัวเลขการเปิด-ปิดกิจการโรงงาน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มใกล้เคียงเมื่อเทียบกับปี 2555 ขณะที่ กสอ. และ สสว. ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่าเอสเอ็มอี มีกิจการใดร้องเรียนเข้ามาอย่างเป็นนัยสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีการหารือประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่ายอมรับว่าส่งผลกระทบบ้าง แต่ก็เฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีที่ส่งออกเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปแนวทางช่วยเหลือเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556 แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะช่วยเหลือเลย ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจึงขึ้นอยู่กับนายกิตติรัตน์ ว่าจะประเมินสถานการณ์ในภาพรวมอย่างไร
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 เม.ย.2556 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีการเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเงินวงเงินอุดหนุนช่วยดอกเบี้ย โครงการคลีนิกอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับเอสเอ็มอี มาตรการจูงใจส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี เป็นต้น
ด้านนายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 23 เม.ย.2556 นี้ กระทรวงอุตสาหรกรม จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 6,300 ล้านบาท โดยมีเงินวงเงินอุดหนุนช่วยดอกเบี้ย 200 ล้านบาท โครงการคลีนิกอุตสาหกรรม ช่วยเหลือเอสเอ็มอีปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงิน 200 ล้านบาท จัดให้มีกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลฟันด์ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดิมของ สสว. ที่ยังไม่ใช้งบประมาณอีก 1,000 ล้านบาท
“เราได้มีการขยายมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับเอสเอ็มอี จำนวน 90,000 ราย ซึ่งเดิมมาตรการนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ต.ค.25 55 จะสิ้นสุด 30 ก.ย.2556 และจะขยายออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดในปี 2559 โดยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ปีละ 300 ล้านบาท”
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีมาตรการจูงใจส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการของ บีโอไอ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.เป็นการส่งเสริมลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ช่วยลดต้นทุน ช่วยลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่า โดยยกเว้นอากรขาเข้าเครื่อง และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วนร้อยละ 100 ของเงินลงทุน 2. ช่วยเอสเอ็มอี ที่ต้องการขยายการลงทุนวงเงินตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป โดยจะยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 8 ปีไม่จำกัดวงเงิน มาตรการยกเว้นค่าบริการต่อใบอนุญาต ค่าบริการออกหนังสือรับรองสิทธิให้เอสเอ์มอีในนิคมอุตสาหกรรมดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และมาตรการเดิมของ เอสเอ็มอีแบงก์คือ สินเชื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิตของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงิน 20,000 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
วันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2013 เวลา 12:45 น. กัญณัฎฐ์ บุตรดี ข่าวรายวัน