เอกชนผวา แผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท ภาครัฐ ต้องใช้แรงงาน 4-5 แสนคน "ธนิต"ย้ำ ปี58 ปั่นป่วนทั้งระบบแน่ ชี้เวลานี้ช่างฝีมือเริ่มขาดแคลนแล้ว แนะรีบทำแผนนำเข้าเพื่อนบ้านมาทดแทน ภาคก่อสร้างเล็งจีบ"คนขายโรตี" ชวนอบรมให้เป็นโฟร์แมนคุมงาน ฟากอุตฯอิเล็กทรอนิกส์เอาใจพนักงานสุด ๆ กลัวถูกดึงตัว ภาครัฐยันลงทุนยาว 7 ปีทยอยทำ เชื่อมีแรงงานหมุนเวียนทดแทนได้
ทันทีที่รัฐบาลผลักดันร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนระบบคมนาคมขนส่ง เข้าสภาผ่านภาระหนึ่งขั้นรับหลักการไปแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักของฝ่ายค้าน ที่ชี้ว่าหนีการตรวจสอบรายปี และโครงการไม่ชัดเจน เป็นความเสี่ยงของประเทศ ที่จะต้องรับภาระหนี้ต่อเนื่องอีก 50 ปี ขณะที่รัฐบาลย้ำ มุ่งหวังจะให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจนเสร็จ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลง รวมทั้งจะสร้างการจ้างงานในช่วงการลงทุนอีก 4 แสนอัตรา นั้น
++ปี 58ไทยเสี่ยงวิกฤติแรงงาน
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาวิกฤติแรงงานครั้งใหญ่ เพราะเป็นช่วงที่การก่อสร้างโครงการตามแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลเร่งตัวสูงสุด จะทำให้เกิดการปั่นป่วนในระบบการจ้างงานทั้งระบบทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคก่อสร้าง และภาคบริการ ที่ปัจจุบันก็เกิดการขาดแคลนอยู่แล้ว จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก หากรัฐบาลไม่วางแผนรับมือการใช้แรงงานที่สูงขึ้น
ล่าสุดภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง กำลังดูว่าผลกระทบจากโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ของรัฐบาล ว่าจะซ้ำเติมการขาดแคลนแรงงานอย่างไร เนื่องจากจะต้องใช้แรงงานในระบบสูงถึง 4- 5 แสนอัตรา ที่ยังเป็นคำถามอยู่ว่า จะเอาแรงงานมาจากไหน เพราะปัจจุบันตำแหน่งวิศวกร โฟร์แมน ช่างเทคนิค ช่างกลึง ช่างโลหะ ช่างไฟฟ้าและช่างเชื่อม ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว
ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ก็พบว่า 82 % กระจุกตัวอยู่ในระบบราง ซึ่งจะแยกเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ระบบรางในรถไฟฟ้ามหานคร สร้าง 10 สายพร้อมกัน ก็จะเกิดการเพิ่มงานโยธา ทั้งเจาะถนน ช่างคอนกรีต ช่างไฟฟ้า 2.ระบบรางที่เป็นไฮสปีดเทรนกับระบบรถไฟรางคู่ ที่จะเชื่อมไปยังพื้นที่ในต่างจังหวัด ในส่วนนี้จะเพิ่มระยะทางอีกหลายร้อยกิโลเมตร จะเกิดงานในชนบทและจะเกิดการแย่งงานในพื้นที่ต่างจังหวัดมากเกิดขึ้น
"ที่บอกว่าจะเกิดความปั่นป่วนในเรื่องแรงงานทั้งระบบนั้น เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ จะเชื่อมโยงกับการเติบโตในทุกสาขาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกัน เช่นโรงงานผลิตเหล็ก ก็ต้องเพิ่มคนเพื่อรองรับการขยายงาน ที่จะนำมาใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาล โดยผลกระทบจะออกมาเป็นวงจรต่อเนื่องไปทั้งระบบ"
++แนะเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าว
นายธนิตเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่า สิ่งแรกที่จะต้องรีบดำเนินการเพื่อลดปัญหาการแย่งแรงงานคือ รัฐบาลจะต้องวางนโยบายด้านแรงงานให้ชัดเจน เหมือนตอนที่มาเลเซียลงทุนด้านรางคู่ ก็มีแผนนำเข้าแรงงานจากประเทศอินโดนีเซียและบังกลาเทศ มาใช้ในช่วงที่มีงานก่อสร้าง เป็นโควตาพิเศษ เช่นเดียวกับที่ไต้หวัน ที่มีการพัฒนารถไฟใต้ดิน ก็ใช้แรงงานจากประเทศไทยและฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการให้ชัดเจนปัญหาที่จะตามมาคือ การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ระหว่างโครงการของรัฐบาลกับโครงการของภาคเอกชน ส่งผลให้ต้นทุนก่อสร้างพุ่งสูงขึ้น ในที่สุดภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ก็จะมีราคาแพงขึ้น เชื่อมโยงไปถึงการใช้แรงงานในภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรม ก็จะได้รับผลกระทบด้วย กรณีเกิดการแย่งแรงงานไร้ทักษะ หรือช่างฝีมือ ที่จะไปกระทบกับต้นทุนการส่งออกได้ สุดท้ายก็จะเป็นตัวเร่งให้ค่าแรงงานทั้งระบบพุ่งสูงขึ้นต่อไปอีก
++เล็งปั้น"คนขายโรตี"เป็นโฟร์แมน
สอดคล้องกับที่นายชัยฤทธิ์ วศินสมบัติ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย ที่ยังกังขาว่าจะเอาแรงงานจากไหน เพราะเวลานี้ภาคก่อสร้างก็ขาดแคลนอยู่แล้ว "ที่น่าเป็นห่วงจากนี้ไปคือ แรงงานต่างด้าวก็จะหายไปด้วย เช่น เมียนมาร์พัฒนาประเทศ ก็ต้องดึงแรงงานเมียนมาร์ในไทยกลับไป เพื่อรองรับการลงทุนในทวาย จึงยังมองไม่ออกว่าไทยจะใช้แรงงานจากไหน"
อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลจะต้องรีบดำเนินการก่อนคือ การลดขั้นตอนนำเข้าแรงงานต่างด้าวลง โดยที่รัฐต้องสามารถควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาเงินบนโต๊ะ -ใต้โต๊ะได้ รวมถึงการเร่งหาแรงงานจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศที่อยู่ติดกับประเทศไทย เช่น อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกาเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น
"เวลานี้โดยส่วนตัวกำลังมองว่า จะติดต่อให้แขกที่เร่ขายโรตีมาอบรมเป็นโฟร์แมน เพื่อใช้ถ่ายทอดภาษาให้กับแรงงานอินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ที่จะรับเข้ามาทำงานอีกทอดหนึ่ง"
++อิเล็กทรอนิกส์ชิงหนีเสี่ยง แล้ว
ด้านดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ใช้แรงงานในระบบมากถึง 3 แสนอัตราต่อปี และส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะรับรู้มาก่อนแล้ว ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการหลายบริษัทปรับตัวเอง เพื่อรักษาแรงงานที่มีอยู่ไม่ให้หนีไปไหน โดยให้สวัสดิการที่จูงใจ จ่ายค่าแรงสูงกว่า 300 บาท/วัน หลายบริษัทก็ได้สร้างบรรยากาศในที่ทำงาน ตามโครงการ"HAPPY WORK PLACE"
++ฟองสบู่ไม่น่าห่วงเท่าแรงงานขาด
ขณะที่แวดวงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีภาวะการซื้อขายร้อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดคอนโดมิเนียม จนถูกจับตาและถกเถียงกันว่า เข้าสู่ภาวะฟองสบู่หรือยังและน่าวิตกเพียงใดนั้น นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าวว่า เวลานี้ที่น่าห่วงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เรื่องจะเป็นฟองสบู่หรือยัง แต่เป็นปัญหาเรื่องกำลังแรงงานขาดแคลน หาคนที่จะมาทำงานยากมาก ค่าตัวก็สูง ยิ่งจะมีการลงทุนของภาครัฐตามมาอีก จะยิ่งแย่งตัวแรงงานหนักขึ้น หากโครงการเกิดไม่ได้ตามกำหนด ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น มีผลกระทบแน่นอน โดยที่ยังไม่รวมถึงหุ้น เงินบาท ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งยอมรับว่าไม่ค่อยสบายใจ เหมือนมีอะไรมาสะกิดเตือนให้ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น
++-ภาครัฐยันมีแผนรับมือ
นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดเผยมาตรการเตรียมบุคลากรด้านแรงงาน รับมือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่เนื่องมาจากโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน จับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคม เตรียมพัฒนาฝีมือ และทักษะบุคลากร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตอยู่แล้ว
สำหรับโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้าน กว่าจะเข้าระบบของการใช้แรงงานในการก่อสร้างและด้านการคมนาคม จะทยอยทำ และเพิ่มสูงสุดคาดว่าน่าจะเป็น ปี 2557 -2559 เป็นต้นไป ขณะที่อัตราการว่างงานปัจจุบันมีไม่ถึง 1 % ต่อความต้องการแรงงานของประเทศ
นอกจากนั้น กระทรวงแรงงานยังมีแผนนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาเสริม ตามความต้องการของนายจ้างที่ยื่นแจ้งความจำนงไว้ ซึ่งจะสามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวได้ภายใน 1-2 เดือน หลังนายจ้างแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน จึงมั่นใจว่า แรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน
ซึ่งสอดรับกับนายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย โครงการ 2 ล้านล้านบาท หากเกิดขึ้นจริงต้องใช้เวลานาน โดยในส่วนของแรงงานที่ปัจจุบันยังคงขาดแคลนนั้น เมื่อถึงเวลาลงทุนจริง ๆ ภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมประมูลในโครงการต่างๆ จะสามารถหาแรงงานมาทดแทนได้ ยิ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี จะทำให้การจ้างงานต่างชาติเป็นเรื่องง่ายขึ้น
++ชี้แรงงานขั้นกลางน่าห่วงสุด
ขณะที่ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย การพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ไม่กังวลเรื่องแรงงานจะขาดแคลน เนื่องจากปกติจะมีกำลังแรงงานเข้าสู่ตลาดประมาณ 4-5 แสนคนต่อปี ทำให้สามารถดูดซับการจ้างงานได้ ในกรณีที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกินกว่า 4 % จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างสาขาเพราะค่าจ้างจะสูง ยิ่งตลาดแรงงานดีค่าจ้างดี ภาคเกษตรซึ่งมีอยู่ราว 2 ล้านคนที่ทำงานเป็นฤดูกาล จะออกมารองรับตลาดแรงงานที่มีความต้องการได้
"น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือความต้องการแรงงานฝีมือและมีทักษะระดับกลาง เพื่อเข้ามารับงานก่อสร้างและงานด้านวิศวกร รองรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างในอนาคตนั้น ซึ่งประเมินว่ามีความต้องการประมาณ 4-5 พันคน ที่มีอยู่อาจจะไม่พอ ดังนั้นทางออกกระทรวงแรงงานและพันธมิตรที่ร่วมรับผิดชอบต้องเร่งมือผลิตบุคลากรให้เร็วกว่าที่ทำอยู่ในขณะนี้"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,831
วันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน พ.ศ. 2556