เกษตรกร-ห้องเย็นลุ้น 2 เดือนจากนี้สถานการณ์โรคตายด่วนในกุ้งปรับตัวดีขึ้น ฟันธงทั้งปียอดผลิต-มูลค่าส่งออกวูบจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 20% เชื่อไม่ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน
นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยเผยผลพวงทำไทยวืด ออร์เดอร์ใหญ่ป้อนซูเปอร์มาร์เก็ตสหรัฐฯ จากผลผลิต-ราคากุ้งไม่สร้างความมั่นใจ ผู้ส่งออกไม่กล้ารับออร์เดอร์
จากสถานการณ์โรคตายด่วน (Early Mortality Sysdrome : EMS) ที่ระบาดในฟาร์มเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกช่วงกลางปีที่ผ่านมาก่อนจะลุกลามไปยังพื้นที่เลี้ยงในภาคอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลผลิต และยอดส่งออกกุ้งซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปีที่ผ่านมาอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังมีต่อเนื่อง
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์ผลผลิตกุ้งของไทยที่ลดลงอย่างมากในช่วงนี้ทางสมาคมได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อใด ซึ่งคงต้องลุ้นว่าผลผลิตกุ้งของเกษตรกรในช่วง 2 เดือนจากนี้ไป (เมษายน-พฤษภาคม 2556) จะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ หากปรับตัวดีขึ้นจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณ์ได้ผ่านพ้นจุดวิกฤติแล้ว อย่างไรก็ดีคาดว่าผลผลิตกุ้งของไทยจะลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่เกิน 20% จากปี 2555 ไทยมีผลผลิตกุ้งประมาณ 5.4 แสนตัน หรือจะลดเหลือประมาณ 4.3 แสนตันในปีนี้
"หากพ้น 2 เดือน จากนี้ไปแล้วผลผลิตกุ้งดีขึ้น เกษตรกรกลับมาเลี้ยงกุ้งใหม่ได้ ผลผลิตทั้งปีอาจลดลงจากปีที่แล้วไม่เกิน 10% แต่หากยังมีการระบาด อย่างเลวร้ายสุดผลผลิตกุ้งในปีนี้จะลดลงไปจากปีที่แล้วไม่เกิน 20% ซึ่งโรคตายด่วนนี้ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะอย่างบ่อที่เลี้ยงจาก 10 บ่อ มีตาย 1 บ่อ ไม่ใช่ตายยกฟาร์ม เช็กก็ไม่เจอเชื้อไวรัส น่าจะเป็นเชื้อโรคในบ่อมากกว่า ซึ่งบางพื้นที่ได้นำปลาไปช่วยกินพวกสาหร่ายในบ่อที่เป็นพิษต่อกุ้งที่คิดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งด้วย"
สำหรับผลผลิตกุ้งที่จะลดลงในปีนี้ในส่วนของโรงงานแปรรูปกุ้ง(ห้องเย็น)คงไม่ถึงขั้นปิดโรงงาน แต่คงต้องบริหารจัดการให้ดี การรับคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ในช่วงนี้อาจต้องชะลอ แต่หากรับก็คงต้องรับในปริมาณ และราคาที่พอประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เพราะในเวลานี้วัตถุดิบกุ้งขาด และมีราคาแพง ขณะที่ภาพรวมผลผลิตกุ้งทั่วโลกในปีนี้ก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกุ้งเลี้ยง หรือกุ้งที่จับจากทะเลของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เมียนมาร์ หรือบังกลาเทศ
ด้านดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ปัญหากุ้งขาดแคลนและมีราคาแพงที่เกิดจากโรคตายด่วนระบาดแล้ว อีกด้านหนึ่งมีผลทำให้เกษตรกรขาดความมั่นใจยังไม่กล้าลงเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ ในรายที่ลงเลี้ยงก็ยังเลี้ยงแบบยั้งๆ ไม่ลงกุ้งหนาแน่น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาดจะส่งผลให้ในปีนี้ การส่งออกกุ้งของไทยในแง่ปริมาณหรือน้ำหนักจะลดลงจากปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 20% จากที่ส่งออกกว่า 4 แสนตันจะลดลงเหลือระหว่าง 3.5-3.8 แสนตัน ส่วนด้านมูลค่าคงไม่ลดลงมาก จากราคาสินค้าต่อหน่วยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯจะปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ แต่อีกด้านหนึ่งจากเงินบาทที่แข็งค่าเป็นปัจจัยลบทำให้รายได้รูปเงินบาทของผู้ประกอบการลดลง
"ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ เกษตรกรเลี้ยงกุ้งหลายรายทยอยปิดตัวไป คนเพาะลูกกุ้งก็ไม่กล้าเพาะมากเกรงจะไม่มีคนซื้อ โรงงานแปรรูปกุ้งพื้นฐาน หรือล้งกุ้งก็มีงานทำน้อยลง ห้องเย็นก็ไม่กล้ารับออร์เดอร์ และที่น่าเสียดายคือฝ่ายจัดซื้อของผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของสหรัฐฯเพื่อนำไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศที่ปกติจะเข้ามาสั่งซื้อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เพื่อวางจำหน่ายในช่วงปลายปีล่าสุดเขาไม่ซื้อกุ้งไทย และหันไปซื้อจากประเทศอื่นแล้ว เพราะไม่มีใครกล้ารับออร์เดอร์แม้แต่ตู้เดียวตั้งแต่แรก ไม่ใช่การทิ้งออร์เดอร์อย่างที่เป็นข่าว จากที่เขาไม่ให้ขึ้นราคา วัตถุดิบก็ขาด แต่หากในอนาคตเราสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เขาเรื่องปริมาณส่งมอบระยะยาว และเรื่องราคาได้คงว่ากันอีกที"
ส่วนการส่งออกกุ้งของไทยในปีนี้ที่คาดว่าทั้งแง่ปริมาณ และราคาจะลดลงจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 20% นั้น เกิดจากการส่งออกไปสหรัฐฯที่จะลดลง ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นเงินเยนอ่อนค่า ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น สวนทางกับค่าเงินบาทแข็งราคาสินค้าไทยสูงขึ้น ส่วนตลาดสหภาพยุโรป(อียู)ที่เป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมาซื้อกุ้งไทยไม่มาก
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,831
วันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน พ.ศ. 2556