ขณะที่ธสน.เผย 3เดือนคู่ค้าต่างประเทศล้มละลาย 3แห่ง ค่ายไทยพาณิชย์เชื่อเดือนมี.ค.ปริมาณการค้าเร่งผู้ประกอบการตื่นตัวซื้อประกันเพิ่ม 20%ตามเงินบาทแข็งค่าและมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 30%
ความกังวลต่อแนวทางแก้ไขปัญหากรณีรัฐบาลประเทศไซปรัสภายใต้การขออนุมัติเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป(อียู)และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมถึงการต่อรองทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ยืดเยื้อกดดันภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอแม้จะใช้มาตรการผ่อนคลายอัดฉีดสภาพคล่อง เหล่านี้ล้วนสะท้อนนโยบายแต่ละประเทศที่ดำเนินนโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเอง ส่งผลให้สกุลเงินประเทศอื่นแข็งค่าจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย
ขณะที่ เงินบาทเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ปิดตลาดที่ 29.33-29.34บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า 4.3%สูงสุดในรอบ 16ปีนับจากวิกฤติปี 2540 โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น 6.54พันล้านบาทและตลาดพันธบัตร 258.7พันล้านบาทขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าค่าเงินบาทขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากและรวดเร็ว แต่ยืนยันว่ายังไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษยืนยันจะดูแลตามความเหมาะสม
นายคณิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทั้งสหรัฐฯเศรษฐกิจที่ยัง มีปัญหาการว่างงานสูง 7.7% ส่วนใหญ่อัตราจ้างงานเป็นการทำงานพาร์ตไทม์โดยหางานประจำทำไม่ได้ อีกทั้งยังมีประเด็นตัดลดงบประมาณเพิ่มและไม่ต่ออายุภาษีที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ ส่วนญี่ปุ่นเศรษฐกิจยังชะลอตัวเช่นกันแม้จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบก็ตามและประเทศในยูโรโซนยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เหตุเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ชะลอตัว และปัญหาไซปรัสที่ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขอาจขยายวงทางอ้อมต่อภาคส่งออกของไทยผ่านทางจีน อาเซียนและแม้ปัจจุบันไทยลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกโดยลดการส่งออกไป 3 ประเทศแต่ยังคงมีสัดส่วนเกือบ 30% (สหรัฐอเมริกา 9.9% ยูโรโซน 9.5%และญี่ปุ่น 10.2%)
"ก่อนหน้านี้ ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าแรง หรือเงินบาทแข็งค่าทำให้คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อสินค้า ถ้าเหตุการณ์ไซปรัสลามไปในประเทศยูโรโซนอาจจะส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออกไทยผ่าน จีน หรืออาเซียน แม้ไทยลดการพึ่งพาส่งออกไปยุโรปเหลือสัดส่วน 9.5%ใน 27ประเทศแล้ว แต่แนวโน้มจากความยืดเยื้อของปัจจัยนอกประเทศ บวกกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายธสน.แนะนำให้กลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าซื้อประกันความเสี่ยงตามที่ธสน.เปิดให้บริการทุกธุรกรรมตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้สินเชื่อหมุนเวียนที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯสำหรับผู้ส่งออกที่มีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนและอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการกู้สกุลเงินบาท"
+++คาดธปท.มีวิธีคุมบาทแข็ง
ขณะที่ นายจารุพัฒน์ พานิชยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันการส่งออก ธสน.กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา 3 เดือนพบบริษัทคู่ค้าต่างประเทศปิดบัญชีล้มละลายแล้ว 3 ราย รวมมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท แบ่งเป็นคู่ค้าในยุโรป 2 ราย และญี่ปุ่น 1ราย แม้มูลค่าความเสียหายไม่สูงมากแต่สถานการณ์ปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวนโดยแต่ละสัปดาห์ค่าเงินยังแข็งค่าและอ่อนค่าสลับกัน ขณะที่ปัจจัยภายนอกภาคส่งออกเป็นความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้มากกว่าเครื่องมืออื่น ดังนั้นแต่ละประเทศจะดำเนินนโยบายให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า เห็นได้จากหลายประเทศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ อีกทั้งหากเศรษฐกิจของประเทศในยูโรโซนทรุดตัวอาจนำไปสู่การอัดฉีดเม็ดเงินอีกระลอก
"ปัจจัยภายนอกบวกบวกอาจทำให้เงินบาทแข็ง แม้ธปท.(ธนาคารแห่งประเทศไทย)คงจะมีวิธีดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งพรวดพราดบวกกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแรงตอนนี้จึงมีเครื่องมือทำงานหลายแบบ แต่กรณีตลาดหุ้นนั้นถ้าเงินที่ไหลเข้ามาเมื่อ 1-2 ปีก่อนซึ่งเข้ามาเยอะและนักลงทุนอยากเอาเงินกลับอาจเป็นปัจจัยที่ทุกคนจับตาเรื่องฟองสบู่แตก"
ดังนั้นในแง่ของผู้ประกอบการภาคการส่งออก ต้องทยอยซื้อความเสี่ยงหรือทำฟอร์เวิร์ดตามปริมาณสกุลเงินที่มีอยู่โดยไม่ปล่อยทิ้งไว้เพื่อรักษากำไรหรือป้องกันโอกาสจะขาดทุน เพราะผู้ส่งออกมีกำไรไม่มาก 5-10% และยังต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยอีก หากเกิดเหตุการณ์ช็อกจากความผันผวนของราคาหรืออัตราแลกเปลี่ยนจะยิ่งกำไรบาง
+++ เชื่อกระทบไทยระยะสั้น
ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า สภาวะฟองสบู่เริ่มส่งสัญญาณความเสี่ยงและน่าเป็นห่วงมากขึ้น จากราคาสินทรัพย์ในประเทศที่ทะยานขึ้นมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทั้งราคาหุ้น พันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน และอสังหาริมทรัพย์ โดยจากการพูดคุยกันในกลุ่มนักวิชาการหรือแม้กระทั่งภาคเอกชน ยืนยันตรงกันว่ายังมองไม่เห็นทิศทางการลดระดับราคาลงหรือชะลอตัวลงเลย
ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ยังมีโอกาสแข็งค่าทะลุ 29.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คงไม่ถึง 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากแข็งค่าในระดับ 29.3-29.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งขณะนี้ ธปท.ก็ควรออกมาส่งสัญญาณในการดูแลค่าเงินอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งควรเป็นมาตรการผสมผสานเพื่อดูแลเฉพาะจุด ไม่ใช่มาตรการหว่านแหอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ทั้งนี้ โอกาสที่เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าถึงระดับ 30บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนยังโน้มเอียงไปในทิศทางแข็งค่า นอกจากจะเกิดความเสี่ยงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักขึ้นอีกครั้ง เช่น กรณีไซปรัสที่ถูกกดดันจากสหภาพยุโรปให้จัดเก็บภาษีเงินฝากของลูกค้าธนาคารเพื่อแลกกับเงินกู้จำนวนมหาศาลหวังป้องกันภาคธนาคารล้มละลาย ทำให้มีการดึงเงินกลับไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยแต่เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบกับไทยเพียงระยะสั้นเท่านั้น
+++แนะซื้อประกันความเสี่ยง
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า เศรษฐกิจไซปรัสเล็กมาก ไม่มีแรงส่งผลกระทบตลาดเงินหรือเศรษฐกิจยุโรปแต่ส่งผลกระทบระยะสั้น 1-3 เดือน อาจทำให้ตลาดปั่นป่วนพอสมควร เพราะถ้าหาข้อตกลงไม่ได้โอกาสขยายวงเงินไหลออก และมีผลตลาดโดยรวม ที่สำคัญผู้ส่งออกไทยต้องซื้อประกันความเสี่ยงทั้งแนวโน้มค่าเงินแข็งและอ่อนค่า เพื่อระมัดระวังตัวเองจากความเสี่ยงภายนอก
ด้านนายไตรรงค์ บุตรากาศ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สาย GTS บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารมีโวลุ่มการซื้อความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% ซึ่งเป็นการซื้อความเสี่ยงค่าเงินทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการมีความตื่นตัวตามการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ต้นปีเพิ่มขึ้นกว่า 30% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
"หากพิจารณาตามมูลค่าการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่ต้นปี 2556 พบเดือนมกราคมมูลค่าธุรกรรมการค้าของลูกค้าไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นการเติบโตจากภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น 50-60% ภาคการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบ 30% แม้เดือนกุมภาพันธ์จะทรงตัวอยู่ในระดับเดิม แต่เชื่อว่าจะเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนมีนาคม"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,828 วันที่ 21- 23 มีนาคม พ.ศ. 2556