ทั้งเตรียมชง ครม. ของบพันล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านนักธุรกิจไทยเล็งเข้าไปลงทุนด้านไฟฟ้าและประมงและโรงแรมรองรับการเปิดด่าน
นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ความคืบหน้าของการเปิดจุดผ่อนปรนด่านสิงขร (กม.332 บ้านหนองหิน ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์)ให้เป็นด่านถาวร ในขณะนี้คือทางรัฐบาลของประเทศเมียนมาร์ได้อนุมัติเปิดเป็นด่านถาวรแล้ว โดยผู้ที่รับผิดชอบได้เข้าไปตรวจงานเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทำหนังสือแจ้งความจำนงในการเปิดด่านยื่นมายังรัฐบาลไทย ซึ่งหากรัฐบาลไทยตอบตกลงและกระทรวงมหาดไทยประกาศเป็นจุดผ่านแดนถาวรก็สามารถทำการเปิดด่านได้ทันที โดยคาดว่าจะสามารถเปิดเป็นด่านถาวรได้ไม่เกินกลางเดือนเมษายนนี้
ทั้งนี้ในขณะนี้เมียนมาร์ได้สร้างถนนจากหมู่บ้านมูด่องไปยังตะนาวศรี ประเทศพม่า เป็นระยะทางยาว 100 กิโลเมตร และจากตะนาวศรีไปยังมะริดอีกราว 100 กิโลเมตร รวมทั้งสร้างศูนย์ราชการเสร็จเรียบร้อย สำหรับประเทศไทยในวันที่ 28 มีนาคมนี้ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาตรวจด่านสิงขรเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งไทยและเมียนมาร์สามารถทำการเปิดด่านได้ทันที หลังการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง 2 ประเทศ เพราะเรื่องผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว สำหรับเรื่องเขตแดนก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดด่าน
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปิดเป็นด่านถาวรแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีการลงทุนใหม่ทั้งหมด เช่น การลงทุนสร้างศูนย์ราชการ การสร้างด่านใหม่ การขยายถนน การทำระบบน้ำประปา โทรศัพท์ และด่านกักกันสัตว์ เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างเตรียมทำโครงการและปรับพื้นที่ ทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโดยคณะรัฐมนตรีหรือ ครม. ได้อนุมัติงบกลางให้ราว 15 ล้านบาท สำหรับการสำรวจออกแบบ
ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดเป็นด่านถาวรแล้วจึงจะมีการลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 1-1.2 พันล้านบาท โดยจะมีการนำเสนอ ครม.อีกครั้ง นับว่าเป็นการใช้งบในการลงทุนน้อยมาก เพราะสินค้าจากเมียนมาร์ที่จะเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่งปีก็คุ้มค่าแล้ว ประกอบกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เองก็มีการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดด่านถาวร โดยมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การปรับปรุงตลาด ถนน และที่จอดรถ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ทันทีที่มีการเปิดด่านถาวร เมียนมาร์ก็จะมีการนำสินค้าประมงจากเมืองมะริดเข้ามาในไทยทันที โดยเมียนมาร์สามารถผลิตได้ราว 2.5 ตัน แต่มีการนำเข้ามาในไทยราว 60% หรือราว 1.5 พันตัน นอกนั้นจะเป็นการขนส่งไปที่มาเลเซีย แทนการขนส่งในเส้นทางเดิม ที่มีการขนส่งทางเรือไปที่ระนอง และใช้เวลาราว 20 ชั่วโมงในการขนส่งมาที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทางมะริดต้องการให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นทางผ่านในการส่งสินค้าไปที่อำเภอมหาชัย เพราะจะใช้เวลาราว 6 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์คือได้ค่าภาษีจากการขนส่งสินค้ากว่า 1.5 พันตัน นับว่าได้ประโยชน์ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงเมียนมาร์ก็จะเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคกลับไป อีกทั้งจะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่ฝั่งพม่า เนื่องจากพม่ามีแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมการประมง ห้องเย็น รวมถึงการแปรรูปสินค้าประมง ซึ่งประเทศไทยไม่เพียงพอและต้องการสินค้าจากมะริดเข้ามา ทั้งยังจะมีนักลงทุนเตรียมลงทุนดิวตี้ฟรีทั้งฝั่งไทยและเมียนมาร์ด้วย โดยการลงทุนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในพม่า เนื่องจากประเทศไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
"ทั้งนักธุรกิจในสองฝั่งเริ่มมีการเจรจาธุรกิจกันแล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมการและรอการเปิดด่านถาวร นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวว่ามีบริษัทไฟฟ้าจากไทยเข้าไปลงทุนในมะริด เนื่องจากที่นั่นมีปัญหาการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ และต้องมีการปั่นไฟเอง ดังนั้น จึงเห็นคนไทยเตรียมลงทุนด้านไฟฟ้าและอุตสาหกรรมประมง
ประกอบกับในด้านการท่องเที่ยว คนมะริดและคนไทยเองก็จะมีการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งมะริดมีเกาะอยู่ราวกว่า 700 เกาะ และยังไม่มีการลงทุนด้านการท่องเที่ยวมากนัก มีเพียงโรงแรมขนาดเล็ก ดังนั้น จึงเป็นโอกาสทองของนักลงทุน ทั้งในขณะนี้มีข้อมูลว่ามีนักลงทุนไทยไปลงทุนโรงแรมในมะริดราว 500 ล้านบาท แต่ยังสร้างไม่เสร็จ อีกทั้งในส่วนของชายแดนบ้านมูด่องและประเทศไทยก็มีการค้าขายกันอยู่แล้ว จากที่บ้านมู่ด่องมีประชากรราว 1 พันคน ตอนนี้อพยพมาอาศัยอยู่ราว 5 พันคนแล้ว
ทั้งความเคลื่อนไหวของการลงทุนดังกล่าว ส่งผลให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงมากขึ้น โดยที่ดินตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์จนถึงบริเวณด่านสิงขรเริ่มมีการซื้อขายกันแล้ว แต่ยังมีการเปลี่ยนมือได้ไม่มาก เนื่องจากเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งไม่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งต่อไปชาวบ้านอาจจะให้เช่าหรือชาวบ้านอาจจะร่วมลงทุนด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเปิดด่านถาวรจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของมูลค่าเศรษฐกิจทางการค้าผ่านพิธีศุลกากรของด่านสิงขรเพิ่มจากกว่า 200 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน เป็นไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาทต่อเดือนหรือปีละไม่ต่ำกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท จากการขนส่งสินค้าประมง 1.5 พันตัน และการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการที่ไทยจะลงทุนราวกว่า 1 พันล้านบาทนับว่าภายใน 1 ปีก็สามารถคืนทุนได้แล้ว และประเด็นสำคัญคือนับเป็นผลประโยชน์อันมหาศาลของประเทศ โดยในปัจจุบันคนเมียนมาร์ยังได้เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าและค้าขายบริเวณชายแดนราววันละกว่า 500 คนถึง 1 พันคน นายวีระ กล่าวในที่สุด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,825 วันที่ 10 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2556