ในมูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารของไทยเกือบ 1 ล้านล้านบาทต่อปี วงการทราบกันดีว่าสินค้ากุ้งเป็นสินค้าหมวดอาหารกลุ่มสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นล่ำเป็นสันคิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี
และยังถือเป็นแชมเปี้ยนโปรดักต์ของไทยที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน แต่เส้นทางความสำเร็จของอุตสาหกรรมกุ้งไทยกว่าจะเดินมาถึง ณ ปัจจุบัน ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีหลากหลายเรื่องราวสารพัดปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องล้มลุกคลุกคลาน และต้องผนึกกำลังกับภาครัฐในการติดตามแก้ไขปัญหาไม่รู้จบ และนับวันปัญหายิ่งมากขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs)
+++มรสุมซัดต่อเนื่อง
ทั้งนี้สินค้ากุ้งไทยเมื่อหลายปีก่อนถูกสหภาพยุโรป(อียู)แบนห้ามนำเข้าหลังจากตรวจพบสารไนโตรฟูแรนซ์ ต้องติดตามแก้ไขหลายปีกว่าที่จะไฟเขียวให้กลับมาส่งออกใหม่ และในปี 2558 สินค้ากุ้งยังมีแนวโน้มที่จะถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ขึ้นภาษีนำเข้าจาก 4 เป็น 12% ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของกุ้งไทย ได้ใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)สินค้ากุ้งไทยมาตั้งแต่ปี 2548 และปัจจุบันก็ยังไม่ยุติการใช้มาตรการ แต่มีอัตราภาษีที่ลดลง และล่าสุดสหรัฐฯได้เปิดไต่สวนการอุดหนุน(ซีวีดี)สินค้ากุ้งของรัฐบาลไทย
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ซึ่งมีกุ้งเป็นสินค้าหลัก กล่าวว่า นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ณ ปัจจุบันอุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งของไทยยังต้องเผชิญกับอีกสารพัดปัญหาสามารถแยกได้เป็น 3 ด้านคือ 1. ปัญหาด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อผู้ประกอบการในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า,TIPs Report ที่องค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)สหรัฐฯ กล่าวหากอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และค้ามนุษย์ และในปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้จัดสถานะประเทศไทยให้อยู่ในบัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Tier 2 Watch List) เป็นปีที่ 3 เสี่ยงกระทบต่อการส่งออกหากถูกยกระดับให้ไปอยู่ในบัญชี Tier 3 ในปีนี้
2.ปัญหาโรคและสารตกค้างในกุ้ง โดยยังมีปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน(Early Mortality Syndrome : EMS) ทำให้วัตถุดิบลดลงและราคาแพง, ญี่ปุ่นกำหนดค่าตกค้างของยาปฏิชีวนะในระดับต่ำมาก เช่น Etoxyquin และ 3. ปัญหาด้านการตลาด ที่เกิดจากราคาวัตถุดิบผันผวนไม่มีเสถียรภาพ ยากต่อการควบคุมต้นทุนการผลิต, สหรัฐฯยังเรียกเก็บภาษีเอดี และล่าสุดกล่าวหารัฐบาลไทยให้การอุดหนุนสินค้ากุ้ง และประกาศไต่สวนซีวีดี และจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในเวลานี้ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตรวมถึงผลกำไรได้
+++เร่งเคลียร์ใช้แรงงานเด็ก
ในส่วนของการถูกกล่าวหาใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และค้ามนุษย์ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า เดิมเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมกุ้งไม่อยู่ในลิสต์(รายการ)ที่มีปัญหาดังกล่าว แต่ถูกระบุมีปัญหาในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าราคาถูก น้ำตาล และภาพยนตร์ลามก แต่ใน 1-2 ปีที่ผ่านมาได้ใส่อุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเลในลิสต์ที่มีปัญหา หลังมีการจัดฉากการใช้แรงงานเด็กเผยแพร่ออกสื่อต่างประเทศ
ในเรื่องนี้ทางสมาคมร่วมกับกรมประมงอยู่ระหว่างเร่งเคลียร์ปัญหา โดยร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง สมาคมผู้ผลิตปลาป่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ สมาคมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ในการสร้างคลัสเตอร์แก้ไขปัญหาด้านแรงงานทุกขั้นตอน สามารถพิสูจน์ และตรวจสอบย้อนกลับได้ ตั้งเป้าปีนี้ทุกอย่างต้องโปร่งใสชัดเจน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมกุ้งตกเป็นแพะรับบาป ไม่ว่าในการพิจารณาสถานะรอบใหม่ของสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และประกาศผลประมาณเดือนมีนาคมนี้ไทยจะถูกจัดอยู่ในบัญชีใดก็ตาม
+++ก.เกษตรฯช่วยอีกแรง
ขณะที่นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานด้านประมงที่จังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการ เมื่อ 28 มกราคม 2556 กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรฯโดยกรมประมงได้เร่งแก้ปัญหา ทั้งการสำรวจและขึ้นทะเบียนสถานประกอบการแปรรูปกุ้งและอาหารทะเลเบื้องต้น(ล้ง) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งผลสำรวจมีจำนวนล้งทั้งขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่มากถึง 582 แห่ง ซึ่งได้เร่งรัดการขึ้นทะเบียนได้แล้ว 354 แห่ง ที่เหลือจะเร่งดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice : GLP)สำหรับล้งกุ้งและอาหารทะเล มีล้งแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการนำร่องแล้ว 15 แห่ง และจะจัดฝึกอบรม GLP ในโครงการล้งนำร่องในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะขยายผลต่อไปให้ทั่วทั้งจังหวัดสมุทรสาคร และครอบคลุมทั้งประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า รวมถึงผู้บริโภคในต่างประเทศว่าสินค้ากุ้งและอาหารทะเลไทยไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และไม่มีการค้ามนุษย์ตามที่ถูกกล่าวหา
จะเห็นได้ว่าเส้นทางอุตสาหกรรมกุ้งและอาหารทะเลไทยนับจากนี้ไปยังมีปัญหาเฉพาะหน้า และปัญหาข้างหน้าที่ยังมองไม่เห็นให้ตามแก้ไม่รู้จบ ซึ่งด้านหนึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรม แต่อีกด้านหนึ่งถือเป็นโอกาส หากไทยสามารถยกเครื่องสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมกุ้งได้ทั้งระบบตามที่คู่ค้ากำหนดก็จะเป็นโอกาสสร้างความได้เปรียบคู่แข่งขันในระยะยาว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,815 วันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556