"สเปน" แบนปลาทูน่ากระป๋องไทย ชี้ตรวจพบสินค้าส่งออกไปอียูผลิตไม่ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย โดนตีกลับ 17 ครั้ง ซ้ำรอย "นอร์เวย์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก บัลแกเรีย" ออกประกาศเตือน เสนอ 3 มาตรการแก้ไข ด้านผู้ประกอบการมั่นใจไม่กระทบตลาดส่งออกโดยรวม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แอนฟาโค สมาพันธ์อาหารกระป๋องสเปนได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลสเปนเรียกร้องให้สั่งห้ามการนำเข้าทูน่าจากประเทศไทยชั่วคราว โดยอ้างหลักฐานว่าผู้นำเข้าทูน่ากระป๋องจากไทยหลายรายไม่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป
(อียู) พร้อมเรียกร้องให้อียูใช้กฎหมายบังคับให้หน่วยงานด้านสุขภาพของไทยถอนชื่อโรงงานผลิตทูน่ากระป๋องที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบมาตรฐานสุขอนามัยดังกล่าวออกไป
ขณะเดียวกันได้หยิบยกข้อมูลจากระบบการแจ้งเตือนสินค้าอาหารของอียู หรือ RASFF มาอ้างว่า ในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อียูปฏิเสธการนำเข้าทูน่าจากไทยเข้าตลาดอียูมาแล้ว 17 ครั้ง สาเหตุมาจากกระบวนการให้ความร้อนเพื่อทำให้อาหารปราศจากเชื้อโรคกระทำโดยไม่เหมาะสม และมีความเสี่ยงอย่างรุนแรงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และความมั่นคงของชาติ
จึงเสนอให้หน่วยงานด้านสุขภาพของไทยหยิบยกปัญหานี้ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา และขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปเดินทางไปประเทศไทยเพื่อตรวจสอบแหล่งผลิตให้มั่นใจว่าโรงงานได้ปฏิบัติตามระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารตามมาตรฐานอียูอย่างจริงจังแล้ว
กรมประมงชง 3 มาตรการแก้ไข
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยเรื่องเดียวกันนี้ว่า ทูน่าที่ตรวจพบสารตกค้างมีเฉพาะบางลอตเท่านั้น และถูกตีกลับเฉพาะลอตที่มีปัญหา ซึ่งเป็นลอตที่ส่งเข้าไปสเปน
ขณะนี้กรมประมงได้เสนอ 3 มาตรการแก้ไข ได้แก่ 1.แจ้งผู้ประกอบการที่มีปัญหา 2 รายให้ปรับปรุงระบบน้ำเย็นของโรงงาน 2.กรมประมงจะเข้าไปตรวจสอบทูน่า
ทุกลอตที่ส่งออก จากเดิมสุ่มตรวจบางลอต 3.ศึกษาระบบการตรวจสอบของอียู และปรับระบบการตรวจสอบของไทยให้ตรงกัน
"ไม่ใช่อียูปฏิเสธมาตรฐานกรมประมงไทย แต่เขาให้เสนอมาตรการรองรับเรื่องนี้ เราเสนอไปแล้ว กำลังรอคำตอบอยู่"
สำหรับผู้ประกอบการที่มีปัญหา ขณะนี้อยู่ระหว่างชะลอการส่งออกเพื่อปรับปรุงระบบในโรงงาน แต่บริษัทอื่น ๆ ที่ไม่มีปัญหาสามารถส่งออกได้ปกติ ยังไม่มีการแบนทั้งประเทศอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทูน่ารายใหญ่ของไทย ไม่มีปัญหาหรือตรวจพบสารตกค้างแต่อย่างใด อาจมีการส่งสัญญาณหรือมีข้อสงสัยระหว่างธุรกิจกับธุรกิจถึงปัญหานี้ แต่ยังไม่มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เรื่องนี้ตนจะรายงานให้นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.เกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมประมงทราบต่อไป
อีก 5 ประเทศส่งสัญญาณเตือน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกอียูหลายประเทศ อาทิ นอร์เวย์ โปแลนด์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก บัลแกเรีย สเปนได้ออกประกาศเตือนผู้ส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องจากไทย หลังตรวจสอบพบบางบริษัทที่ผลิตสินค้าทูน่าแบบสุกไม่พอ (Inadequate thermal processing) ซึ่งมักจะพบในกลุ่มทูน่าครีบเหลือง นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบสารฮิตามีนในผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุกระป๋องจากไทย รวมแล้วมีปัญหา 27 รายการ บางประเทศจึงสั่งระงับการนำเข้า ให้ไทยปรับปรุงคุณภาพการผลิต ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในยุโรป
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้แจ้งเตือนไปยังผู้ผลิตที่อียูระบุว่ามีปัญหา เพื่อให้ปรับปรุงแล้ว แต่กระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นบ้าง หากปรับปรุงให้รัดกุมก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และไม่น่าถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะทุกประเทศก็ย่อมดูแลประชาชนของตัวเอง
ชี้ไม่กระทบตลาดส่งออกโดยรวม
ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง และประธานบริหารบริษัท ซีแวลู จำกัด กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นเพียงข้อขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งทางสมาคมและกรมประมงประสานงานกันต่อเนื่องอยู่แล้ว เชื่อว่าจะไม่กระทบการส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องของไทยโดยรวม
เช่นเดียวกับที่แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF ระบุว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว เพราะมีห้องปฏิบัติการควบคุมการผลิตไม่ให้มีสารฮีสตามีนตกค้างเกินกว่าที่อียูกำหนด เรื่องนี้จึงเป็นผลบวกต่อบริษัทมากกว่า เนื่องจากบริษัทมีฐานการผลิตหลายแห่งในอียู เช่น ไอร์แลนด์ อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์
9 เดือนไทยส่งออกทูน่าเพิ่ม 29%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกรมศุลกากร พบว่าการส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องของไทยในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) 2555 มูลค่า 1,937 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกในกลุ่มสหภาพยุโรปที่สำคัญ อาทิ อังกฤษ มูลค่า 55.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 29.26% อิตาลี 26.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 91.15% ฝรั่งเศศ 20.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 34.08% ขณะที่ยอดส่งออกไปโปแลนด์ 7.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 33.04% และเดนมาร์ก 7.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.19% สเปน 6.05 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 43.40% นอร์เวย์ 5.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.06% เป็นต้น
สำหรับสารฮีสตามีน (histamine) คือสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก เนื่องจากการบริโภคอาหารทะเล เช่น ปลาต่าง ๆ ได้แก่ ปลาโอแถบ (skipjack), ปลาโอครีบเหลือง (yellowfin), ปลาโอครีบฟ้า (bluefish), ปลาหลังเขียว (sardine), ปลาทู (mackerel), mahi mahi, amberjack, marlin, black marlin และหอยเป๋าฮื้อ (abalone) โดยผู้ที่รับประทานฮีสตามีนในปริมาณมากเกินไป จะก่อให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคัน หน้าแดง แสบร้อนบริเวณปาก ความดันเลือดต่ำ ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ฯลฯ
updated: 05 พ.ย. 2555 เวลา 07:47:46 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์