สถาบันเหล็กฯ เผยวิกฤติยุโรปพ่นพิษอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกชะลอตัว ส่งสัญญาณลดกำลังการผลิต การขยายการลงทุนใหม่ชะงัก โดยยอดการใช้เหล็กในสหภาพยุโรปเดือนมิ.ย.ติดลบถึง 5.3% กระทบถึงนักลงทุนญี่ปุ่นชะลอแผนลงทุนเหล็กต้นน้ำที่ทวาย ส่วนปริมาณการบริโภคเหล็กในประเทศไทยสวนทางครึ่งปี 2555 ขยายตัวเพิ่ม 6 %
นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเหล็กหลายประเทศทั่วโลก ได้ส่งสัญญาณการผลิตชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในภาครวมช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเติบโตในอัตราที่ลดลงหรืออยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มสหภาพยุโรปหดตัวลงทุนเดือนตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา โดยในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาติดลบถึง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังเติบโตอยู่ที่ 3.1% ขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในเดือนมิถุนายนก็เติบโตในอัตราที่ลดลงเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเติบโตถึง 11.7% ที่เป็นผลมาจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลก และการปรับลดระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเอง
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มส่งสัญญาณลดกำลังการผลิตลง และยังส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิตในช่วงนี้และในอนาคตอันใกล้ เห็นได้จากนักลงทุนของญี่ปุ่นเอง จากเดิมที่ได้เริ่มเข้าไปศึกษาการตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศเมียนมาร์ได้มีการชะลอโครงการออกไปแล้ว
ดังนั้นจึงมองว่าในระยะอันใกล้นี้โรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปได้อยาก ประกอบกับทางพื้นที่ทวายเองในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ก็ยังไม่มีความชัดเจน
ส่วนการลงทุนเหล็กต้นน้ำที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น คงต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาได้มีการชะลอโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่โครงการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ได้ยุติไป ประกอบกับหากมีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำเกิดขึ้นได้จริงที่ทวาย การจะตั้งโรงงานในไทยก็ไม่มีความจำเป็น เพราะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 แล้ว ก็สามารถป้อนเหล็กให้กับกลุ่มประเทศอาเซียนได้
นายวิกรม กล่าวอีกว่า ส่วนความต้องการใช้เหล็กและเหล็กกล้าของไทยนั้น ในปีนี้ยังถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขการบริโภคเหล็กขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก อยู่ที่ 6% หรือประมาณ 7.802 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 7.36 ล้านตัน โดยมีปัจจัยมาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังทรงตัวในระดับนี้ต่อไปอีก
สำหรับการเตรียมรับมือเข้าสู่เออีซีนั้น ขณะนี้เตรียมศึกษาจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเหล็กแข่งขันกับประเทศสมาชิกในเออีซีได้ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เกิดจากต้นทุนด้านพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแผนการประหยัดพลังงานร่วมกับกระทรวงพลังงานที่จะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนตุลาคมนี้
อีกทั้งต้องหาวิธีสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพเหล็กให้ดียิ่งขึ้น มาตรฐานความปลอดภัยสูง รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการในการเตรียมตัวรับมือ ซึ่งกำลังศึกษาเรื่องของศูนย์บริการด้านเหล็ก ที่มีตัวอย่างให้เห็นอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มีโรงงานผลิตเหล็กและมีการตั้งศูนย์บริการกลางขึ้นมา เมื่อเหล็กออกจากโรงงานส่งมาที่ศูนย์บริการฯ เพื่อตกแต่งเหล็ก เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานได้ทันที ไม่ต้องมาตัดหรือคัดตกแต่งเหล็กเอง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าประหยัดเวลาและลดการสูญเสียได้ ซึ่งที่สิงคโปร์มีบริษัทที่บริการด้านนี้อยู่ 2-3 ราย สามารถทำกำไรจากการให้บริการได้ค่อนข้างดี
ขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้สามารถนำเหล็กต่างๆเข้ามาได้ ดังนั้นผู้ที่จำหน่ายเหล็กก่อสร้างไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตเหล็กก็ได้ สามารถนำเข้ามาให้บริการตามความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเหล็กได้มากขึ้น
ทั้งนี้ มองว่าเป็นโอกาสค่อนข้างดีที่ผู้ประกอบการ จะนำบริการดังกล่าวมายกระดับสินค้าของตนเอง ที่สำคัญหากไทยเองไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ อีกไม่นานคาดว่าต่างชาติที่เห็นโอกาสในธุรกิจนี้ จะเข้ามาเปิดให้บริการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสทางด้านนี้ไป
ขณะเดียวกันทางสถาบันเหล็กก็มีโครงการ "Thailand Steel House content 2012" การประกวดออกแบบบ้านเหล็กด้วยนวัตกรรมสีเขียว มีโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะส่งเสริม วิศวกร สถาปนิก และนิสิตนักศึกษา ใช้โครงสร้างเหล็กเป็นวัตถุ ตลอดจนใช้นวัตกรรมสีเขียว และเทคโนโลยีในการก่อสร้าง เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ออกแบบได้ตระหนักถึงเรื่องราวการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,769 26-29 สิงหาคม พ.ศ. 2555