แรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกส่งผลแล้ว ยอดส่งออกฟื้นเดือนเดียวก่อนหดตัวติดลบอีก เอกชนคาดปีนี้ส่งออกโตเหลือ 5.8 % จากเป้า 15 % ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างแห่ปรับลดจีดีพีของไทย ทั้งธปท.-กสิกรไทย-ม.หอการค้า ขณะที่เอดีบีลุ้นเม็ดเงินลงทุนภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สศค.ขอดูตัวเลขส่งออกอีกไตรมาส ก่อนประกาศตัวเลขใหม่กันยายน ธปท.ชี้ครึ่งหลังเศรษฐกิจหมดแรงส่ง ด้านไทยพาณิชย์คงจีดีพี เพราะคาดแต่ต้นปีให้โตต่ำที่ 5.6 % กลุ่มการ์เมนท์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าลดกำลังการผลิตแล้ว
พิษหนี้สาธารณะยุโรป ที่ซ้ำเติมความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างจัง จากสัญญาณฟื้นตัวเร่งขึ้นหลังน้ำท่วมในช่วงต้นของครึ่งปีแรก ที่เสริมความหวังว่าจะมีแรงส่งขยายตัวต่อเนื่องถึงครึ่งปีหลังนั้น ถูกท้าทายอย่างหนักแล้ว เมื่อตัวเลขการส่งออกที่ฟื้นกลับเป็นบวกในเดือนพฤษภาคม กลับหดวูบกลับเป็นลบอีกครั้ง ทำให้ทั้งปีคาดไม่ถึงเป้า โดยม.หอการค้าไทยคาด จะโตแค่ 5.8 % กระทั่งธปท.นำร่องประกาศปรับลดอัตรเติบโตจีดีพีไทยปี 2555 ลง ตามด้วยสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ ต่างหันมาปรับลดตัวเลขคาดการจีดีพี.เป็นระลอก
ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีคลัง ประกาศ ล่าสุดหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่ออังคารที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยืนยันคงเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2555 ที่ 7 % และการเติบโตของการส่งออกที่ร้อยละ 15 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องไปบริหารจัดการ ขณะเดียวกันก็เร่งกระตุ้นกำลังซื้อทั้งผ่อนปรนเงื่อนไขการใช้สิทธิคืนเงินรถคันแรก และกดปุ่มเปิดกองทุนพัฒนาสตรี เป็นต้น
-ธปท.ชี้ครึ่งหลังแรงส่งแผ่ว
ด้านนายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายความกรณีธปท.ปรับลดเป้าจีดีพีไทยปี 2555 จาก 6 % เหลือ 5.7 % ว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นกลับสู่ระดับก่อนอุทกภัยได้ ขณะที่ภาคการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ จากผลของภาวะอุปสงค์โลกที่อ่อนแอลง
อย่างไรก็ดี แรงส่งของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเริ่มลดลง ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป อัตราการขยายตัวรายไตรมาสจะเริ่มโน้มลดลง โดยคาดว่าในไตรมาส 2/55 จะขยายตัว 3.5 % ไตรมาสสาม 3.2% และไตรมาสสี่ 16.7 % (เทียบกับปีที่แล้วที่ต่ำมากจากพิษน้ำท่วม) ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งมีสัญญาณการชะลอตัวเพิ่มเติม ทั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสงออกสินค้าของไทย และความเชื่อมั่นโดยรวม ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอลง หลังจากเร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูไปมากแล้วก่อนหน้านี้
ธปท.จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ลงมาที่ 5.7 % จากครั้งก่อนที่ 6.0 % และสำหรับในปี 2556 ได้ปรับลดประมาณการลงค่อนข้างมาก จาก 5.8% มาอยู่ที่ 5% ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูง จากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรที่ขยายวงกว้างและมีทีท่าจะยืดเยื้อ
-เอดีบีจ่อลดจีดีพีไทยเดือนหน้า .
ด้านนางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรประจำสำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เอดีบีอยู่ระหว่างพิจารณาปรับประมาณการ แนวโน้มจีดีพี ไทยปี 2555 โคยคาดว่าจะสามารถประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการปรับลดประมาณการลง จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 5.5% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ให้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น ถึงแม้การบริโภคภายในและการลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกของปี จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ไม่สามารถทดแทนได้มากนัก
"ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกแทบทั้งสิ้น แต่เออีบียังเชื่อว่า ยุโรปจะยังสามารถประคับประคองให้กรีซยังอยู่ในยูโรโซนได้ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ทรงตัว และแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายปีนี้ แต่ถ้ากรณีเลวร้ายที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน คงต้องประเมินกันใหม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ส่วนปัจจัยภายในทั้งปัญหาการเมืองและน้ำท่วมมองว่าขณะนี้ยังไม่น่าเป็นกังวลมากนัก" นางลัษมณ กล่าว
ทั้งนี้ เอดีบียังตั้งความหวังแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ผ่านการลงทุนของภาครัฐตามกรอบนโยบายที่วางไว้ โดยรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นในทันที เพราะหากช้าเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจจะช้าตามไปด้วย เช่น แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น ที่ปัจจุบันยังดำเนินการล่าช้า และน่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงสู่ระบบในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปีหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีงบประมาณอื่นๆ ที่คาดว่าจะเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เช่นงบประมาณฟื้นฟูเยียวยาจากอุทกภัยปี 2554 จำนวน 1.2แสนล้านบาท และงบประมาณการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
นางลัษมณ กล่าวว่า ผลจากสถานการณ์ความผันผวนของปัญหาเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องเร่งปรับตัวอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีการปรับตัวอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะต้องหาตลาดใหม่แล้ว การเพิ่มมูลค่าสินค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะตลาดคู่ค้าได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่ยุโรปหรือสหรัฐฯ แต่ยังเป็นคู่ค้าอื่น ๆ เช่น จีน ที่เป็นตลาดหลักของไทย และเป็นคู่ค้าสำคัญของยุโรปและสหรัฐฯ อีกด้วย ดังนั้น เมื่อปริมาณในการส่งออกน้อยลงการเพิ่มมูลค่าสินค้าจึงช่วยประคับประคองรายได้ผู้ประกอบการได้
-ไทยพาณิชย์คงจีดีพีที่5.6%
ด้านดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการจีดีพีไทยทั้งปี ที่ระดับ 5.6% ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากต้นปีธนาคารประเมินว่า ผลกระทบจากปัญหาหนี้ยุโรปน่าจะกระทบไทยมากขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงเป็นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยการบริโภคภายในจากการปรับตัวลงของราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนเชื่อว่าน่าจะเริ่มเห็นการลงทุนของภาครัฐมากขึ้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4
อย่างไรก็ตาม แม้ภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และความอ่อนแอจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าการส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวได้ที่ระดับ 10-11% และหากเกิดกรณีเลวร้ายขึ้นอาจจะปรับลดลงเหลือ 8% แต่ในปีนี้ยังเชื่อว่า การบริโภคและการลงทุนภายในน่าจะทุเลาความรุนแรงได้
-การ์เมนต์-อัญมณีลดผลิต
ด้านภาคการผลิต นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า จากการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัวลดลง 10.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป หรืออียูขยายตัวลดลง 15%)และทั้งปีนี้คาดไทยจะส่งออกเครื่องนุ่งห่มลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ปี 2554 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 3,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นภาพสะท้อนที่ผู้ประกอบการเกือบทุกราย ต้องปรับลดกำลังการผลิตลงประมาณ 10% เช่นกัน หรือไม่ก็ใช้กำลังการผลิตไม่เต็มร้อย
เช่นเดียวกับนายสมชาย พรจินดารักษ์ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ กล่าวว่า จากวิกฤติหนี้ในยูโรโซนเวลานี้ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อการส่งออกสินค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับของไทยไปยังตลาดอียู เฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทราบว่าเวลานี้มีหลายรายได้ทำการปรับลดกำลังการผลิต และปรับลดคนงานลง สถานการณ์ในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังไม่น่าไว้ใจ ทั้งนี้ หากอิตาลีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอียูต้องเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงิน จะส่งผลกระทบหนักยิ่งขึ้น ดังนั้น หากการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับของไทยในปีนี้สามารถทำได้เท่ากับปีที่แล้ว ( 371,239 ล้านบาท) ก็ถือว่าเก่งแล้ว
-ไฟฟ้าเจอสองเด้งยากฟื้น
ขณะที่นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลกระทบน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และมีผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 กำลังการผลิตยังไม่กลับมาเต็ม 100 % ซึ่งอาจจะมีส่วนฉุดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงได้ เพราะเวลานี้เองมีหลายโรงงานที่สั่งซื้อเครื่องจักรไปแล้ว แต่ยังส่งมาไม่ถึงจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้การผลิตยังไม่กลับมา
สำหรับเป้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2555 ที่ยังคงอัตราการขยายตัวไว้ที่ 15%มองว่า อาจจะต้องลดลง เพราะส่วนหนึ่งการส่งออกของสินค้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีตลาดอยู่ในอียูสัดส่วนถึง 13-14 % ชะลอการสั่งซื้อจากปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตสินค้าเองก็ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปีนี้จะเติบโตเพียง 6-7 % เท่านั้น
-แอร์รับสภาพลดผลิตตาม
นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาหนี้ในยูโรโซน ทำให้การส่งออกของกลุ่มเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากการผลิตสินค้าดังกล่าวจะเน้นการส่งออกเป็นหลักถึง 80 % ดังนั้น เมื่อภาพรวมของการส่งออกลดลง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดกำลังการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศปรับตัวลงด้วย ซึ่งอาจจะมีส่วนไปฉุดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจลงได้
แต่ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมยังมีสินค้าสาขาอื่นๆ ที่สามารถส่งออกได้ดี อย่างกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ไปได้ดี อาจจะมาทดแทนยอดการส่งออกที่หดตัวลงได้
-จีดีพีจากส่งออกวูบครั้งแรก
ด้าน รศ.ดร.ไพฑูรย์ ไกรพรศักดิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะคาดเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 5.5% ซึ่งหลายฝ่ายอาจมองว่ายังขยายตัวได้ดี แต่โดยข้อเท็จจริงในปีนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่สัดส่วนจีพีดีจากภาคการส่งออกจะมีบทบาทลดลง (ช่วงที่ผ่านมาภาคการส่งออกเป็นสัดส่วนจีดีพีเกือบ 70%) เนื่องจากคาดการส่งออกจะขยายตัวเพียง 5.9% แต่จีพีดีที่ยังดูดีในปีนี้จะมาจากนโยบายการใช้จ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐที่ตั้งเป้าไว้ 2 ล้านล้านบาท และการลงทุนป้องกันน้ำท่วมอีก 3.5 แสนล้านบาท หากโครงการระยะสั้นเหล่านี้หมดไป และภาคการส่งออกของไทยในช่วง 2-3 ปีจากนี้จากนี้ไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง
อนึ่ง ธปท.ปรับลดจีพีดีจาก 6 % เหลือ 5.7 % จากนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดกรอบประมาณการจีดีพีลงเช่นกัน จากเดิม 4.5-6.0 % เป็น 4.5-5.5% และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ปรับลดจีดีพีเหลือ 5-5.5 % โดยอ้างถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลให้การค้าโลกชะลอและกระทบภาคการส่งออกทั่วโลก รวมทั้งผู้ส่งออกไทยที่น่าจะขยายตัวเหลือ 5.8% จากเดิมอยู่ที่ 10-15%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,762 5-8 สิงหาคม พ.ศ. 2555