สภาธุรกิจไทย-พม่าเปิด 9 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องลงทุน เป็นกลุ่มแรกพร้อมเด้งรับกฎหมายการลงทุนใหม่ของพม่าที่จะคลอดอีกไม่เกิน 2 เดือน "สหพัฒน์" ควงแขนพันธมิตรมากกว่า 10 บริษัทจ่อปักหลัก
ขณะที่ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์-โรงสีข้าวลั่นพร้อมลุยทันทีถ้าก.ม.เอื้ออำนวย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือ SPI เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงบทบาทของสภาธุรกิจไทย-พม่าและความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมที่จะนำร่องเข้าไปลงทุนในพม่าในรูปของกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกอยู่ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หรือในนามสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมโรงสีข้าวไทย จากเดิมที่การเข้าไปลงทุนในพม่าจะเป็นในลักษณะต่างคนต่างเข้าไปลงทุน มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จและไม่ประสบผลสำเร็จ ล่าสุดสภาธุรกิจไทย-พม่าจึงมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มองว่ามีความพร้อมจะเข้าไปลงทุนในพม่าได้ก่อนจำนวน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ภายหลังจากที่กฏหมายต่างๆ ในพม่าผ่านรัฐสภาไปแล้ว ไล่ตั้งแต่ 1. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากในพม่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้นานาชนิด โดยเฉพาะไม้สัก ที่พม่าต้องการให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนแปรรูป 2.การแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น แปรรูปไปเป็นอาหาร
3. อุตสาหกรรมห้องเย็น เนื่องจากแปรรูปสินค้าเกษตรแล้วจะต้องส่งเข้าห้องเย็นเพื่อการส่งออกและลดการสูญเสีย 4. กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปัจจุบันยังไม่มีโรงงานเข้าไปตั้งฐานการผลิตและทุกวันนี้จะต้องนำเข้าแทน โดยจะเห็นว่ามีการค้าขายสินค้ากลุ่มนี้ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าอย่างคึกคัก 5. เสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็นที่สำคัญเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ 6.อุตสาหกรรมไอที 7.โรงสีข้าว เนื่องจากพม่ามีข้าวจำนวนมากยังต้องการโรงสีเข้าไปลงทุนเพราะพม่าต้องการแปรรูปข้าวมากขึ้น 8.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่จะเข้าไปรองรับการขยายตัวในระบบโครงสร้างพื้นฐาน 9.กลุ่มเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร โดยสภาธุรกิจไทย-พม่าจะหารือกับสมาชิกในส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าธุรกิจกลุ่มไหนที่พร้อมจะออกไปลงทุนในพม่าได้ก่อน
"เวลานี้กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ถูกจีนเข้ามาตีตลาดมากขึ้น จึงต้องหาฐานการผลิตแห่งใหม่ที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงงานรองรับ ขณะที่กลุ่มแปรรูปสินค้าเกษตรที่ผ่านมาพม่ามีการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรน้อยมากทำให้เสียโอกาส ผักผลไม้เน่าเสีย หากสามารถแปรรูปได้ก็จะลดการสูญเสีย และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในพม่ามากขึ้น รวมถึงสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน รองรับตลาดที่มีประชากรประมาณ 50 ล้านคน โดยทุนทั้ง 9 กลุ่มนี้จะเป็นทัพแรกๆที่มีความพร้อมออกไปลงทุนได้ก่อน ภายหลังจากที่กฎหมายการลงทุน กฎหมายการถือหุ้น และกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินฉบับใหม่ของพม่าออกมาในเร็วๆ นี้"
สำหรับความคืบหน้าในการตั้งนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มสหพัฒน์ในประเทศพม่านั้นเมื่อแผนการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมแล้วเสร็จจะมีพันธมิตรร่วมทุนมากกว่า 10 บริษัทสนใจลงทุนที่พม่าร่วมกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และอุตสาหกรรมบริการ จะเป็นการออกไปขยายฐานการผลิตแห่งที่สองนอกประเทศไทย โดยทุนส่วนใหญ่มองว่าจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในเรื่องการลดต้นทุนด้านแรงงาน มีการขยายฐานการตลาดกว้างขึ้น และจะได้รับสิทธิพิเศษเมื่อออกไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างพม่า เช่นถ้าส่งออกไปยุโรปจะได้รับสิทธิพิเศษโดยการยกเว้นทางภาษีอากรนำเข้า เป็นต้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า กฎหมายการลงทุนใหม่ของพม่าขณะนี้อยู่ในรัฐสภาแล้ว จากที่ผ่านมามีการดึงเรื่องเข้าดึงเรื่องออกเพื่อแก้ไข และคาดว่านับจากนี้ไปไม่น่าจะเกิน 2 เดือนจากนี้ไปหรือในช่วงเดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายน 2555 กฎหมายการลงทุนของพม่าจะผ่านสภา หลังจากที่มีการเรียกร้องจากทุนต่างชาติให้พม่ามีการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายการลงทุนฉบับเก่าให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบันและให้เป็นสากลยิ่งขึ้น
"กฎหมายเก่าของพม่ามีข้อจำกัดมากเกินไปจึงต้องมีการทบทวนใหม่ เช่น การลงทุนของต่างชาติในพม่าจะต้องมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่สูงเกินไป และกำหนดให้มีการโอนเงินที่จะลงทุนเข้าไปยังพม่าก่อน 50% และสัดส่วนที่เหลือให้มีการโอนภายใน 6 เดือน"
จากข้อจำกัดดังกล่าว คณะนักธุรกิจฝ่ายไทยได้มีการเสนอให้รัฐบาลพม่ามีการปรับปรุง-แก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในพม่า เช่น ถ้ายังไม่ได้เกิดการลงทุนจะโอนเงินไปก่อนไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องการเช่าที่ดินที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้เพียง 15 ปี ก็ควรกำหนดใหม่เป็น 30-50 ปี และสามารถทำสัญญาต่อได้อีกเมื่อพ้นกำหนด ในขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพม่าควรจะเกิดการกระจายไปในหลายพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้าไป ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งจำนวนมาก รวมถึงข้อเสนอให้รัฐบาลพม่าปรับปรุงขั้นตอนในการขอรับการส่งเสริม จากที่กฎหมายเดิมกำหนดว่าทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในพม่าจะต้องยื่นเรื่องไปยัง คณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนแห่งสหภาพพม่า (Myanmar Investment Commission : MIC) โดยจะทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติ โดยจะมีคณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศ(The Union of Myanmar Foreign Investment Commission : FIC) เป็นผู้พิจารณาโครงการการลงทุนในเบื้องต้น ที่ควรลดขั้นตอนลง และลดข้อจำกัดในการเปิดบัญชีที่กำหนดไว้ว่าจะต้องเปิดบัญชีกับเมียนมาร์ อินเวสท์เมนต์ แบงก์เท่านั้น โดยภาครัฐและเอกชนไทยต้องการให้พม่าเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น และไม่ควรมีข้อจำกัดมากเกินไป
นายวีระชัย คุณาวิชยานนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มเฟอร์นิเจอร์มีสมาชิก 140 ราย ขณะนี้เริ่มเตรียมความพร้อมที่จะไปทำการค้าการลงทุนในพม่าโดยแยกเป็น 2 ส่วนคือ ออกไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์กับออกไปขายเฟอร์นิเจอร์ โดยทั้งหมดนี้เกิดจากการที่เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วกลุ่มเฟอร์นิเจอร์เคยออกไปลงทุนทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้สักในพม่า แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะพม่าในขณะนั้นยังไม่เปิดประเทศมาก จึงต้องถอยกลับมา แต่ขณะนี้พม่าพร้อมที่จะเปิดประเทศมากขึ้นสมาชิกในกลุ่มก็กลับมาทบทวนการลงทุนในพม่าใหม่
"ตอนนี้กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ก็มีการซื้อไม้สักมาจากพม่าอยู่แล้ว โดยไทยนำเข้าไม้มาจากพม่าปีละหลายร้อยล้านบาท ดังนั้นถ้ากฎหมายการลงทุนในพม่าเอื้อมากขึ้นก็จะออกไปร่วมทุนกับนักธุรกิจพม่าตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออกมายังประเทศไทยหรือส่งไปขายยังประเทศที่สามและคาดว่าจะเกิดการลงทุนจริงไม่เกิน 1-2 ปีนับจากนี้ไป ส่วนในระยะสั้นจะร่วมมือกับพม่าในการนำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากไทยไปทำตลาดในพม่ามากขึ้น"
ทั้งนี้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในพม่ามีแนวโน้มดี กำลังซื้อมีมากขึ้น พอเปิดประเทศคนในพื้นที่จะกล้าออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัว ธุรกิจโรงแรมขยายตัว มีการลงทุนก่อสร้าง ทำให้เฟอร์นิเจอร์ขยายตัวตาม และหากเกิดการลงทุนในพม่า ฐานการผลิตในไทยก็จะกลายเป็นผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อเจาะตลาดบนมากขึ้น โดยมีมูลค่าเพิ่มที่สูงตามต้นทุนที่ปรับขึ้นโดยเฉพาะค่าแรงงาน จากที่ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่าตลาดรวมในประเทศประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท/ปี ในจำนวนนี้แบ่งเป็นมูลค่าที่เกิดจากการส่งออก 50% และมูลค่าจากการขายในประเทศ 50%
ด้านนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ธุรกิจโรงสีข้าวในพม่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้สูงในการเข้าไปร่วมทุนกับนักธุรกิจพม่าตั้งโรงสีข้าว เพราะในพม่ามีปริมาณข้าวจำนวนมาก มีอัตราการบริโภค 180-200 กิโลกรัม/คน/ปี เทียบกับไทยที่มีอัตราการบริโภค 104กิโลกรัม/คน/ปี และหากกฎหมายการลงทุนใหม่ของพม่าเอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจโรงสีข้าวก็สามารถเข้าไปลงทุนได้ทันที
สำหรับรัฐบาลพม่าขณะนี้ยังให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอันดับต้นและเชิญชวนให้ไทยเข้าไปลงทุนร่วมกันใน 8 สาขาธุรกิจคือ การแปรรูปเหล็กและสังกะสี, การแปรรูปสินค้าเกษตร, ห้องเย็น, สินค้าอุปโภคบริโภค, เครื่องนุ่งห่มของเด็กและสตรี, อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, พลังงานและโรงสี ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 9 กลุ่มที่สภาธุรกิจไทย-พม่าให้ความสนใจและมองว่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะเข้าไปลงทุนในพม่าเมื่อกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ออกมาภายในปีนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,762 2-4 สิงหาคม พ.ศ. 2555