ส่งออกสินค้าหมวดอาหารหนีไม่พ้นวิกฤติยูโรโซน ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม สถาบันอาหารประเมินสิ้นปีนี้โต 5.1% จากอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% หวัง 5 ปีข้างหน้าครัวไทยสู่โลก-เออีซี เอื้อสถานการณ์ดีขึ้นอัตราโตเฉลี่ยปีละ 15% สิ้นปี 2560 ปั๊มรายได้เข้าประเทศ 2 ล้านล้านบาท
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ส่งออกสินค้าอาหารว่าจากการที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม2555) มีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 406,500 ล้านบาท หรือมีอัตราขยายตัว 5.1% ทำให้สถาบันอาหารประเมินว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งปีนี้จะมีมูลค่า 1,013,250 ล้านบาท ขยายตัว 5.1%
ทั้งนี้การขยายตัวการส่งออกสินค้าอาหารปี 2555 ที่คาดว่าจะโต 5.1% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือปี 2550-2554 การส่งออกอาหารจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% สาเหตุที่ปีนี้ขยายตัวต่ำเนื่องจากมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ความต้องการสินค้าอาหารชะลอตัวลง
โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งทางตรงที่เกิดจากการส่งออกจากประเทศไทยโดยตรงและทางอ้อมจากเครือข่ายการผลิตสินค้าอาหารทั่วโลกที่ไทยเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปีนี้การส่งออกอาหารจะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี แต่นับได้ว่าเป็นการนำรายได้เข้าประเทศแตะระดับหลักล้านล้านบาทเป็นปีแรก
"5 เดือนแรกของปีนี้ตลาดส่งออก 10 อันดับแรกมีทั้งตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอาทิอาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ แอฟริกา ขณะเดียวกันตลาดที่ส่งออกลดลงได้แก่ สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ส่วนสหภาพยุโรปแม้ว่าจะไม่ลดลงแต่อัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำคือ 1.2% เท่านั้น สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกได้แก่ข้าว กุ้ง น้ำตาลทราย ผลไม้ ปลาทูน่า ไก่และสัตว์ปีก มันสำปะหลัง ปลาแช่แข็ง/แปรรูป อาหารสัตว์ ผัก"
นายเพ็ชร กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ คือตั้งแต่ปี 2556-2560 สถาบันอาหารได้ตั้งเป้าหมายส่งออกสินค้าอาหารขยายตัวปีละ 15% โดยปี 2556 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออก 1,165,000 ล้านบาท ปี2557 มูลค่าส่งออก 1,340,000 ล้านบาท ปี 2558 มูลค่าส่งออก 1,541,000 ล้านบาท ปี 2559 มูลค่าส่งออก 1,772,000 ล้านบาท และปี 2560 มูลค่าส่งออกจะแตะ 2 ล้านล้านบาท
ส่วนสาเหตุที่ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวการส่งออกเฉลี่ยปีละ 15% เพราะว่าประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นครัวไทยสู่ครัวโลก เป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ประกอบกับปี 2558 การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพการผลิตและการค้าอาหารให้เข้มแข็ง
ขณะเดียวกันเออีซี เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพราะจีดีพีของประเทศในภูมิภาคอยู่ในระดับสูงมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย เออีซีจะเกิดการรวมศูนย์การผลิตสินค้าในแหล่งที่มีศักยภาพทางวัตุถดิบและการตลาด การเกิดขึ้นของชุมชนชั้นใหม่ในประเทศจากการย้ายถิ่นของแรงงานในอาเซียน เช่นการเพิ่มขึ้นของผู้บริหารสัญชาติสิงคโปร์ในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ทำให้มีความต้องการอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงเพิ่มขึ้น การเติบโตของชนชั้นรายได้ปานกลางเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจบริการอาหารของไทยทำได้ง่ายขึ้น เหล่านี้จะเป็นปัจจัยผลักดันให้การส่งออกอาหารขยายตัวตามเป้าหมาย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,756 12-14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555