ผู้ประกอบการไทยเครียด "อองซาน ซูจี" ประกาศนำแรงงานพม่ากลับประเทศ ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมหนักโรงสี ส่งออกข้าว ห้องเย็น เร่งปรับตัวนำเครื่องจักร เทคโนโลยีเข้ามาทดแทน พร้อมปลอบใจตัวเองค่าจ้างแรงงานสูงจะช่วยดึงดูดแรงงานพม่าอยู่ในไทย
การเดินทางเยือนประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญของพม่า ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2555 นอกจากได้เข้าร่วมประชุมเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก นางอองซาน ซูจี ยังได้พบปะกับแรงงานชาวพม่าที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เยี่ยมผู้อพยพชาวพม่าที่อำเภอแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยนางได้ประกาศจะนำแรงงานพม่าที่อยู่ในประเทศไทยกลับสู่ประเทศพม่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า
นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด ดำเนินธุรกิจโรงสีและส่งออกข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าคำประกาศดังกล่าวของนางอองซาน ซูจี สร้างความกังวลในฐานะผู้ประกอบการพอสมควร เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมโรงสีและส่งออกข้าวใช้แรงงานต่างด้าวไม่ว่าจะเป็นจากพม่า กัมพูชา เมื่อเทียบกับแรงงานไทยแล้วคิดเป็นสัดส่วน 60:40 กล่าวคือใช้แรงงานต่างด้าว 60% แรงงานไทย 40% เพราะเป็นอุตสาหกรรมหนักแรงงานไทยไม่นิยมทำ
"นโยบายดังกล่าวของนางอองซาน ซูจี มีความเป็นไปได้สูง เพราะว่าประเทศพม่าอยู่ในห้วงเวลากำลังพัฒนา หากมีต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศมากขึ้น ความต้องการแรงงานมีมากขึ้น เชื่อว่าแรงงานพม่าเองก็ต้องการกลับบ้านเกิด ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่พึ่งพาแรงงานพม่าจำนวนมากคงต้องปรับตัวรับมือ ลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรมากขึ้น ทดแทนแรงงานพม่าที่จะกลับสู่ประเทศ ในส่วนของบริษัท เอเซียโกลเด้นไรซ์ จำกัด และบริษัทในเครือได้จับตาความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดและพร้อมรับมือ"
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวทำนองเดียวกันว่ามีความกังวลเพราะอุตสาหกรรมโรงสีข้าวใช้แรงงานพม่าเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโรงสีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น แรงงานไทยจะเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นหมด เพราะทำงานในโรงสีเป็นงานหนัก เพราะฉะนั้นการปรับตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าตามคำประกาศของนางอองซาน ซูจี ก็คือนำเครื่องจักรเข้ามาช่วย หากมีการใช้เครื่องจักรมากขึ้นงานเบาลง แรงงานไทยก็คงจะเข้าสู่อุตสาหกรรมโรงสีมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยที่สูงกว่ายังเป็นจุดดึงดูดให้แรงงานพม่าอยู่ในไทยต่อไป เหมือนกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าจ้างสูงกว่า
นายอาทร พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด กล่าวว่ามีความกังวลเช่นเดียวกันที่ผู้นำฝ่ายค้านของพม่าประกาศจะนำแรงงานพม่ากลับประเทศ เพราะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง โดยเฉพาะที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ใช้แรงงานพม่าสัดส่วนกว่า 70% อย่างไรก็ดีเชื่อว่าภายใน 3-4 ปียังเร็วเกินไปที่ภายในประเทศของพม่าจะมีอุตสาหกรรมรองรับแรงงาน แม้ว่าจะมีอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ จากประเทศไทยทยอยเข้าไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยยังสูงกว่าพม่า จึงน่าจะเป็นจุดดึงดูดให้แรงงานพม่าอยู่ในไทย ส่วนอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งของพม่ายังไม่เอื้ออำนวยให้เข้าไปลงทุน เพราะระบบอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังไม่พร้อมเช่นน้ำแข็ง เป็นต้น ยังไม่สามารถรองรับได้ แต่ทั้งนี้อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งในประเทศไทยต้องปรับตัวเรื่องเครื่องจักร เทคโนโลยี รับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้า
นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม นายกสมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรมกล้วยไม้ เป็นอีกอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานต่างด้าว หากเป็นไปตามที่นางอองซาน ประกาศอุตสาหกรรมกล้วยไม้ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ระบุ จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรไทย (ข้อมูล ณ เมษายน 2555) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,752,100 คน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,746 7-9 มิถุนายน พ.ศ. 2555