รีแบรนด์ 'ไทยยูเนียน โฟรเซ่น' ผู้เชี่ยวชาญอาหารทะเลโลก
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ยอดขายเฉียด 'แสนล้านบาท' แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก 'ไทยยูเนียน โฟรเซ่น' ทุ่มงบปรับภาพลักษณ์เตรียมบุกตลาดในประเทศและอาเซียน พร้อมเพิ่มทุน 'หมื่น
หลังประกาศวิสัยทัศน์ความต้องการเป็น “ครัวของโลก” หรือ Kitchen of the World ทำให้ภาพลักษณ์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ โดดเด่นเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก ตรงข้ามกับ บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ หรือ ทียูเอฟ แม้จะบุกเบิกสร้างอาณาจักรบนแผ่นดินยุโรป อเมริกา และทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายสิบปี มียอดขายเฉียด "แสนล้านบาท" แต่ทว่าคนไทยกลับไม่ค่อยรู้จักแบรนด์บริษัทมากนัก จึงเป็นที่มาของการทุ่มงบ 40 ล้านบาท ปรับภาพลักษณ์ (รีแบรนด์) ครั้งใหญ่ ภายใต้แนวคิดทียูเอฟ คือ "ผู้เชี่ยวชาญอาหารทะเลโลก" หรือ World Seafood Expert รวมถึงออกภาพยนตร์โฆษณาเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันทียูเอฟ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "Chicken of the Sea" จัดเป็นผู้นำอันดับที่ 3 ของตลาดภายในสหรัฐอเมริกา ช่วงปลายปี 2553 บริษัทเข้าซื้อกิจการ เอ็มดับบลิว แบรนด์ส (MW Brands) ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “John West” ผู้นำอันดับ 1 ในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ แบรนด์ “Petit Navire" และ "H. Parmentier" ผู้นำอันดับ 1 ในประเทศอิตาลี แต่ในประเทศไทยทียูเอฟเป็นเจ้าของแบรด์ปลาเส้น "ฟิชโช” และทูน่า “ซีเล็ค” ที่ยังห่างชั้นผู้นำค่อนข้างมาก
ล่าสุดบริษัทเข้าเทคโอเวอร์ บมจ.แพ็คฟู้ด (PPC) ของตระกูลอารีเจริญเลิศ และกนกวัฒนาวรรณ ที่มียอดขายปีละ 8,000 ล้านบาท รวมทั้งประกาศเพิ่มทุนก้อนโตจำนวน 199.91 ล้านหุ้น ขายผู้ถือหุ้นเดิม 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคา 50 บาท เพื่อระดมเงินสด 10,000 ล้านบาท นำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ไปชำระคืนหนี้เงินกู้ 80-90% เพื่อลดหนี้ที่กู้มาซื้อกิจการ MW Brands เมื่อสองปีที่แล้ว
สำหรับวิสัยทัศน์ของ ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ เป้าหมายปี 2020 (ปี 2563) ทียูเอฟต้องมีระดับรายได้ปีละ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้น TUF ไต่ทะยานจากจุดต่ำสุด 38.50 บาท ขึ้นไปสูงสุด 78.50 บาท นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยผู้บริหารใช้จังหวะนี้ประกาศเพิ่มทุนราคาต่ำกว่ากระดานเพื่อบีบทางอ้อมให้ผู้ถือหุ้นเดิมต้องใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามา
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ BizWeek สอบถามถึงเสียงตอบรับการเพิ่มทุน "หมื่นล้านบาท" ในครั้งนี้ ธีรพงศ์ ตอบสั้นๆว่า ราคาหุ้น TUF ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ไปแล้ว การเพิ่มทุนไม่น่ามีปัญหา เขาอธิบายว่า การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความเข้มแข็ง หลังซื้อกิจการ MW Brands ทำให้บริษัทจ่ายเงินปันผลได้เพียงปีละไม่เกิน 1,200 ล้านบาท คาดว่าปี 2555 นี้ ทียูเอฟจะสามารถกลับมาจ่ายปันผลได้ในระดับเดิมไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งหลังเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดจาก 1.44 เท่า เหลือเพียง 0.8 เท่า สามารถลดดอกเบี้ยจ่ายได้ปีละ 600 ล้านบาท มูลหนี้จะลดลงจาก 3.9 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.9 หมื่นล้านบาท
สำหรับนโยบายการเติบโตของทียูเอฟ ธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทยังเน้นนโยบายเติบโต(ซื้อกิจการ)อยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้เราลงทุนใหม่ได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งคุยว่า ผลจากการซื้อ MW Brands ทำให้มีเครื่องหมายการค้าระดับแบรนด์เนมเข้ามาในพอร์ต มีผลให้ Gross Margin อยู่ที่ 16.6% เพิ่มจากปี 2553 อยู่ที่ 11.8% และ Net Margin จากปี 2553 อยู่ที่ 4% ปีที่แล้วทำสถิติสูงสุดที่ 5.1% ด้านผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นจาก 14% มาอยู่ที่ 22% และ Inventory หรือจำนวนวันที่มีสินค้าอยู่ในโกดังลดลงจาก 107 วันเหลือ 103 วันต่อปี
เบื้องหลังความพยายามในการรีแบรนด์ของทียูเอฟ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนสำคัญต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มกิจการของบริษัท ไม่ใช่แค่การเปิดตลาดใหม่ๆ แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตและเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญ
ธีรพงศ์ เผยว่า ทียูเอฟกำลังเล็งไปที่ตลาดใหม่นอกเหนือจากตลาดยุโรป เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง โดยยังมีตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา 36% ยุโรป 32% ไทย 10% ญี่ปุ่น 10% แม้เศรษฐกิจยุโรปไม่ดีแต่ธุรกิจอาหารทะเลยังไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนการอ่อนค่าของเงินยูโรไม่มีผลมากนักเพราะบริษัทรับรู้รายได้ในรูปเงินดอลลาร์มากกว่า และมีการทำ Natural Hedge ไว้แล้ว ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนทำให้ได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ส่วนผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท บริษัทเตรียมการรับมือมานานแล้วต้นทุนค่าแรงของบริษัทมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ตอนนี้ก็ได้นำเครื่องจักรมาทำงานแทนคนมากขึ้น สรุปแล้วต้นทุนไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 4% นอกจากนี้ ทียูเอฟจะบุกตลาดภายในประเทศรวมถึงตลาดอาเซียนมากขึ้น ภายใต้ บริษัท ธีร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ฟิชโช” และ “ซีเล็ค” ปีที่ผ่านมามีการเติบโตที่ดีมาก
“จุดประสงค์ที่เราจะมามุ่งเน้นตลาดในประเทศมากขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักชื่อ "ทียูเอฟ" มากขึ้น เพราะต่างชาติรู้จักเรามากแล้ว ขณะเดียวกันก็จะมีการส่งออกไปประเทศอาเซียนรองรับ AEC ในปี 2558 ด้วย ซึ่งเราคาดหวังสัดส่วนรายได้จากกลุ่มประเทศอาเซียน 20% ภายในสองปี จากตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 5-10% และภายใน 5 ปีนี้รายได้จากอาเซียนจะเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยมองพม่าและอินโดนีเซียเป็นแหล่งจัดหาวัตถุดิบที่สำคัญ"
สำหรับงบประมาณลงทุนไม่รวมค่าทำการตลาดและซื้อกิจการตั้งไว้ปีละ 3,000 ล้านบาท โดยจะใช้ขยายกำลังการผลิตเป็นหลัก โดยในปี 2556 บริษัทจะขยายโรงงานแห่งใหม่ที่สมุทรสาคร ได้ซื้อที่ดินจำนวน 3,000 ไร่รอไว้แล้ว ส่วนปีนี้ ก็มีเพียงการตั้งโรงงานที่ปาปัวนิวกีนี โดยร่วมทุนสัดส่วนหนึ่งในสามกับฟิลิปปินส์ผลิตทูน่ากระป๋อง โดยการลงทุนใหม่จะยังอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดิมคือ ปลาทูน่า กุ้ง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน และอาหารแช่แข็ง
สำหรับเป้าหมายในปี 2555 เขาคาดว่ารายได้รวมปีนี้ น่าจะเติบโตได้ 18-20% ส่วนเป้าหมายระยะกลางตั้งแต่ปี 2555-2557 รายได้รวมจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ทำให้ปี 2558 รายได้รวมของบริษัทจะสามารถวิ่งแตะ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท) จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ภายใต้การเติบโต 15% ต่อปี ตัวเลขดังกล่าวมีความเป็นไปได้แน่นอน ส่วนเป้าหมายสูงสุดตามวิชั่น 2020 (ปี 2563) ถึงตอนนั้นรายได้เราจะแตะระดับ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”
นายใหญ่ทียูเอฟ กล่าวปิดท้ายว่า แผนการสร้างมูลค่าของบริษัทอย่างหนึ่งก็คือ การพาตัวเองให้ติดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ของโลกติดฟอร์จูน 500 ซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไปที่ต้องไปให้ถึง