วิกฤติเศรษฐกิจโลกฉุดส่งออกไทย เข้าไตรมาส 2 ยังไม่ฟื้น กุ้ง ไก่ สับปะรด ออร์เดอร์ชะงัก กระทบราคาภายในร้อนถึงเกษตรกรทั่วทุกสารทิศ ร้องรัฐแทรกแซงราคา
ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกปลอบใจไตรมาส 3-4 ฟื้น ด้านผู้ส่งออกวอนรัฐอย่าบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้แข่งขันในตลาดโลกยาก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์
ว่าขณะนี้ค่อนข้างซบเซาคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมีเข้ามาน้อยมาก สาเหตุจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น อยู่ในช่วงปิดบัญชีงบดุลเดือนมีนาคม
ส่วนสหรัฐอเมริกา และยุโรป เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้น คาดว่าราวปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม จะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก
แต่อาจมีปัจจัยที่ช่วงนั้นผลผลิตกุ้งประเทศอินเดีย จะออกสู่ตลาดมากซึ่งเป็นกุ้งขนาดใหญ่ 20-30 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งลูกค้าที่จะหันไปซื้อกุ้งอินเดียได้
"ช่วงนี้คำสั่งซื้อลูกค้าแทบไม่มี ผู้ประกอบการห้องเย็นส่วนใหญ่จึงถือโอกาสปิดโรงงานเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร
และให้คนงานบางส่วนหยุดพักยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ห้องเย็นไม่ได้รับซื้อกุ้งจากเกษตรกร ราคากุ้งจึงตกต่ำลง
จึงอยากให้เกษตรกรเข้าใจผู้ประกอบการห้องเย็น โดยกำหนดราคากลางรับซื้อร่วมกัน ดีกว่าเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโครงการจำนำ
เพราะจะทำให้วัตถุดิบราคาสูงขึ้นและบิดเบือนกลไกตลาดยิ่งทำให้การแข่งขันยากขึ้น หากห้องเย็นอยู่ไม่ได้ สุดท้ายกระทบถึงเกษตรกร "
เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวจากสมาคมไก่เนื้อเพื่อการส่งออก กล่าวว่าภาวะการส่งออกไก่เนื้อช่วงนี้ชะลอตัว
เพราะญี่ปุ่นกำลังปิดงบบัญชีเดือนมีนาคมจึงทำให้ลูกค้าชะลอสั่งซื้อ ประกอบกับสต๊อกญี่ปุ่นยังมีจำนวนมาก เพราะภายในประเทศเริ่มผลิตได้
ทำให้ตลาดส่งออกไทยได้รับผลกระทบ ส่วนตลาดยุโรป ขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี เมื่อสถานการณ์ส่งออกยังไม่ดี จึงทำให้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตตกลงมาตามกลไกตลาด
ปีนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีโอกาสขาดทุนสูงมาก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านอากาศร้อน อาหารสัตว์แพง และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย กล่าวว่า เวลานี้ผู้นำเข้าสับปะรด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป
ชะลอซื้อเพราะกำลังซื้อในประเทศไม่มี จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันมีการปล่อยข่าวว่าโรงงานในไทยได้มีการสต๊อกสับปะรดไว้จำนวนมาก
จึงทำให้ประเทศคู่ค้า มีอำนาจการต่อรอง เพื่อกดราคารับซื้อ โรงงานต้องชะลอการรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรผู้ปลูกตามไปด้วย
"ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปริมาณผลผลิตเกิน แต่คู่ค้าไม่รับซื้อเพราะต้องการได้ราคาถูก คาดว่าจะเป็นระยะสั้นๆ ปัจจุบันไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องอันดับ 1
ของโลก ด้วยมูลค่าปีละ 20,000 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด 50% ของมูลค่าตลาดสับปะรดโลก โดยในปี 2554 สับปะรดกระป๋อง มีมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นจาก
13,644 ล้านบาทของปี 2553 และในปี 2555 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงจากเหตุการณ์ข้างต้น ส่วนน้ำสับปะรด ในปี 2554 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 6,614 ล้านบาท คิดเป็น 8.86%
ด้านนายหลักชัย กิตติพล อดีตนายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนจีนที่เป็นคู่ค้ายางพาราอันดับ
1 ของไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมามีการแถลงขาดดุลการค้าในรอบ 3-4 ปี จึงทำให้หลังสงกรานต์จะต้องมีการประเมินกันใหม่
และทางคู่ค้าเองขณะนี้กำลังชะลอการซื้อและพิจารณาประเมินว่าโครงการแทรกแซงยางพาราของไทยจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วทางผู้ส่งออกเองอยากทำให้สำเร็จ
เพราะเกษตรกรจะได้ราคาดี ส่วนผู้ส่งออกเองจะได้ขายง่ายมากขึ้น
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 2555 ภาพรวมไตรมาสแรก มีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ
เนื่องจากในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูโรงงานจากผลกระทบน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมา เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน ทำให้ยังไม่สามารถส่งออกได้เต็มที่ ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซแอลพีจี ค่าไฟฟ้า
ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค้าไทยแข่งขันยากขึ้น
ในอุตสาหกรรมอาหารประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกระทบต่อการขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออก
"ถือเป็นปัจจัยภายในที่มีผลกระทบต่อการส่งออก ส่วนปัจจัยภายนอก เช่นเศรษฐกิจของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีความเปราะบาง
แต่เชื่อว่าในไตรมาส 3-4 ผู้ประกอบการคงปรับตัวได้ และการส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยทั้งปีนี้กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่
15% มูลค่า 263,149 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะต้องทำให้ได้ ส่วนการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรยังห่วงนโยบายทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน"
ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจของยุโรป