ในทางทฤษฎีแล้วกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อน ย่อมจะทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลง ทำให้ขายได้มากขึ้น เงินรายได้เข้าประเทศก็มากตามไปด้วย
เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% ขณะที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1
เมษายนที่ผ่านมา รวมถึงราคาค่าเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมันและก๊าซ อีกทั้งค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทที่มีการเปลี่ยนแปลงทุก 1 บาท
จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ส่งออก 3.3% โดยจะมีผลต่อการแข่งขันกับประเทศคู่ค้า ดังนั้น ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย จีน และอีกหลายๆ ประเทศ
จึงเลือกดำเนินนโยบายให้ค่าเงินอ่อน เพื่อกระตุ้นยอดการส่งออก
ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งนั้น จะเป็นผลดีต่อผู้นำเข้าสินค้าซึ่งจากข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ระบุว่าการนำเข้าขยายตัวเกือบ 24%
ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
โดยเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจากนี้ไปการผลิต และการลงทุนจะเดินหน้าและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะฉะนั้น
หากค่าเงินบาทอ่อนลงย่อมแสดงว่าผู้นำเข้าต้องจ่ายแพงขึ้น โดยบริษัทที่นำเข้าเครื่องจักรหรือนำเข้าวัตถุดิบจะมีต้นทุนสูงขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการที่ไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นต้นทุนหลักด้านการขนส่งและการผลิต ดังนั้น
หากค่าเงินบาทอ่อนในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างปัจจุบัน แน่นอนว่าไทยจะต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันเพิ่มขึ้น
และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ราคาการจำหน่ายน้ำมันในประเทศจะต้องปรับขึ้นตามไปด้วย ผลที่ติดตามมาคือเมื่อใดที่ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น
จะส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วไปแพงตาม ค่าครองชีพก็จะสูงขึ้น นั่นหมายความว่า เงินเฟ้อ จะตามมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
ประเด็นเรื่องของความกดดันต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการให้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
เติบโตไม่น้อยกว่า 7% น่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ รมว.คลังต้องออกมาแสดงบทบาทด้วยอาการที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อเสียงคัดค้าน
เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือการพาดพิงถึงข้อคิดเห็นของอดีต รมว.คลังอย่างกรณ์ จาติกวณิชที่ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าอดีต รมว.
คลังเป็นแค่ฝ่ายค้านไม่มีผู้ใดสนใจฟังความคิดเห็น อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
หัดเถียงให้น้อยลงหน่อยและฟังความเห็นของตนทุกอย่างจะดีเองบทเรียนวิกฤติปี40
ฟากหัวเรือใหญ่อย่างนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางด้านการเงิน ออกมาตอบโต้โดยระบุว่าเวลานี้
ธปท.ไม่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย โดยหากถอยหลังกลับไปเมื่อปี 2540 ซึ่งธปท.ผิดพลาดมากในการดำเนินนโยบายการดูแลความสมดุล
ธปท.ไปทำในเรื่องที่ตำราวิชาการมองว่าเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ คือ ไปทำ 3 อย่างพร้อมกัน ได้แก่ 1.ได้อนุญาตให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี
2.ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแบบอิสระ ซึ่งช่วงนั้นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็ขึ้นดอกเบี้ย และ3.ตั้งเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน ให้เงินบาทคงที่อยู่ที่ 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ในทางตำราวิชาเห็นว่าทำ 3 อย่างไม่ได้และประสิทธิผลไม่ดี พอดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าต่างประเทศ เงินทุนก็เคลื่อนย้ายเข้ามา
ช่วงนั้นธุรกิจไทยก็กู้ยืมเงินจากต่างประเทศเยอะ โดยมีความรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะรัฐไปตรึงค่าเงินบาทไว้ ดังนั้นในปี 2540
เป็นบทเรียนที่ใหญ่หลวงมาก จึงเห็นว่าควรเลือก 2 อย่าง ซึ่งประเทศต่างๆ ก็ต้องเลือกและเราเลือก 2 อย่างแรก คือ
ให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีเงินทุนเคลื่อนย้ายได้และมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยอิสระ แต่ในส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ปล่อยให้ยืดหยุ่นตามภาวะจนเป็นมาถึงทุกวันนี้
คุ้มไหมถ้าบาทอ่อน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ
มีมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คงต้องย้อนคำถามกลับไปว่า การจะทำให้เงินบาทอ่อนมีวิธีการอย่างไร
การที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนก็คือการพิมพ์เงินบาทออกมาเพื่อไล่ซื้อดอลลาร์เข้ามาเก็บไว้ โดยจากข้อมูลที่ทราบก็พบว่าขณะนี้ปริมาณเงินดอลลาร์ที่ ธปท.
ซื้อเก็บไว้มีอยู่แล้วจำนวนมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากต้องการให้เงินบาทอ่อนค่าไปกว่านี้ก็คือต้องสร้างอุปทานเทียมให้กับเงินบาท
และสร้างดีมานด์เทียมของดอลลาร์ ทั้งนี้ ผลกระทบจากการพิมพ์เงินบาทออกมาแล้วที่แน่นอนก็คือปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมา
ซึ่งขณะนี้ปัญหาของราคาน้ำมันที่กำลังจะเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้ออยู่แล้วจากต้นทุนด้านต่างๆที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น
หากมองตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว คำถามก็คือจะต้องพิมพ์แบงก์เพิ่มขึ้นมาอีกเพื่ออะไร ในเมื่อเงินเฟ้อพร้อมที่จะเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
โดยหากไม่ต้องการให้เกิดเงินเฟ้อก็มีทางเลือกอยู่ทางเดียวก็คือการดูดซับเงินกลับมา โดยให้ ธปท. พิมพ์พันธบัตรออกมาจำหน่าย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท.
ต้องจ่ายก็คือ 3% โดยเมื่อได้เป็นรูปเงินดอลลาร์กลับมา ส่วนใหญ่ก็จะรีไซเคิลโดยการเข้าซื้อพันธบัตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งปีได้ดอกเบี้ยเพียง 0.25% ขาดทุนไป
2.75% ด้วยเหตุผลแบบนี้หรือที่ต้องการทำให้เงินบาทอ่อน โดยแท้จริงแล้วทุกประเทศก็คงต้องการให้ค่าเงินอ่อน เพื่อเร่งการส่งออก
แต่เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกกับการนำเข้าในสัดส่วนที่เกือบจะเท่ากัน
เพราะฉะนั้นหากเร่งส่งออกมากแต่ในขณะเดียวกันการนำเข้าแพงขึ้นเป็นทวีคูณจากค่าเงินบาทที่อ่อนลงแล้วจะมีประโยชน์อย่างไร เศรษฐกิจต้องสมานฉันท์
สำหรับข้อมูลที่มีอยู่ก็จะบ่งบอกได้ว่าไทยมีการเกินดุลการค้าในแต่ละปี 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะฉะนั้นหากทำให้เงินบาทอ่อนลงอีก 2 บาท
ทำให้ได้เงินมาอีก 2-3 หมื่นล้านบาทก็จริง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการทำให้เงินบาทอ่อนลง 1-2 บาทจะต้องมีต้นทุนมากเพียงใด จากการพิมพ์เงินเพิ่ม
และต้องขาดทุนในด้านของอัตราดอกเบี้ยอีกเท่าไร "เรื่องการเมืองนั้นจะปรองดองหรือสมานฉันท์กันได้หรือไม่ก็ปล่อยให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนโยบายเศรษฐกิจ
หน่วยงานที่ดูแลด้านนโยบายการคลังกับหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงินจะต้องหาทางสมานฉันท์กันให้ได้เพื่อทำให้นโยบายทั้ง 2
ด้านช่วยกันอย่างแข็งขันในการผลักดันเศรษฐกิจให้พัฒนา และสร้างความเชื่อมั่นทางสากล ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าทางด้านการเมืองมาก" ความนิ่งของเงินบาท
รศ.ดร.สมภพ ยังให้ความเห็นที่สำคัญอีกด้วยว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกของตลาด ขณะนี้สิ่งที่น่าสังเกตก็คือค่าเงินบาทกำลังมีการบริหารจัดการได้ค่อนข้างจะนิ่ง
โดยที่ความนิ่งของเงินบาทนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญกว่าค่าเงินบาทที่จะอ่อนตัวมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหวือหวา
ซึ่งความนิ่งของเงินบาทในอัตราที่เหมาะสมและเป็นไปตามกลไกของตลาด เชื่อว่าจะทำให้การบริหารการค้าระหว่างประเทศของไทยทำได้ง่ายขึ้น
เมื่อการบริหารการค้าระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นดังกล่าว ก็จะส่งผลทำให้การบริหารทรัพย์สินภายในประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,728 5-7 เมษายน พ.ศ. 2555