โดย กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ
วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 18:03 น.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,717 26-29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
วัตถุดิบทูน่าส่อวิกฤติ
28 โรงงานทูน่าไทยผวาผู้ซื้อทั่วโลกบอยคอตต์สินค้า หลังกระแสอนุรักษ์ธรรมชาติเข้มข้นถึงขั้นขู่ผู้ผลิตสินค้าต้องให้ความสำคัญมิฉะนั้นเลิกซื้อ
จับมือเอฟโอเอสตรวจรับรองโรงงานแปรรูปทูน่า หวังสร้างความมั่นใจผู้ซื้อ นายกสมาคมเผยปริมาณจับทูน่าเริ่มคงที่ โรงงานต้องปรับผลิตภัณฑ์รองรับ
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ อุปนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานกลุ่มผู้ผลิตปลาทูน่า เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับหนึ่งของโลก
ว่าขณะนี้แรงกดดันจากผู้บริโภคทั่วโลกเกี่ยวกับกระแสอนุรักษ์ธรรมชาตินับวันมีความเข้มข้นขึ้นอย่างมาก
โดยผู้บริโภคได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
หากผู้ประกอบการรายใดไม่ดำเนินการอาจต้องสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน
เพราะผู้ซื้อจะหันไปซื้อจากผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
จากกระแสผู้บริโภคดังกล่าวสมาคมจึงได้ร่วมกับ Friend of the Sea (FOS) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่รณรงค์ปกป้องโลมาที่ติดอวนมากับการทำประมงทูน่า
และเป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภคทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปดำเนินโครงการตรวจรับรองโรงงานแปรรูปทูน่าของไทย
ซึ่งผู้ประกอบการทูน่าของไทยปัจจุบันมีทั้งสิ้น 28 โรง เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทั้งหมด
"โครงการตรวจรับรองโรงงานคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยบริษัท เอส จี เอส (ประเทศไทย)ฯ จะเป็นผู้ให้การรับรองแก่โรงงานที่ผ่านมาตรฐานของเอฟโอเอส
อาทิ ทูน่าได้มาจากการทำประมงที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น หากโรงงานใดผ่านการตรวจรับรอง
จะได้รับการติดฉลากเอฟโอเอสซึ่งสามารถนำมาเป็นจุดขายสินค้าได้ ตรงกันข้ามหากโรงงานใดไม่ผ่านการรับรองหรือไม่ได้รับการติดฉลากเอฟโอเอส
เชื่อแน่ว่าสูญเสียขีดแข่งขันอย่างแน่นอน" ดร.ชนินทร์ กล่าวและว่า
ยอมรับว่าความเข้มงวดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม อย่างปลาทูน่า เป็นความเข้มงวดที่มาจากความต้องการของผู้บริโภค
ซึ่งผู้บริโภคมีความยินดียอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นหากผู้ผลิตดำเนินการตามสิ่งที่เขาต้องการ
ดังนั้นแม้ว่าผู้ผลิตจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ไม่กระทบแต่อย่างใดเพราะสามารถขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น
แต่ถ้าหากไม่ทำตามจะมีผลเสียมากกว่าเพราะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการที่เขาทำได้
ดร.ชนินทร์ กล่าวว่าเหตุที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น อาจเป็นเพราะว่าปัจจุบันวัตถุดิบทูน่ามีการจับกันมากขึ้น กระทั่งช่วง 2-3
ปีที่ผ่านมาปริมาณการจับเริ่มคงที่โดยทั่วโลกมีการจับปลาทูน่าปีละประมาณ 4 ล้านตัน
และอาจทรงตัวระดับนี้ไปสักระยะหนึ่งเพราะหากยังคงมีการจับกันเพิ่มขึ้นจะกระทบกับปริมาณได้
ในส่วนของประเทศไทยมีการนำเข้าทูน่ามาแปรรูปเพื่อการส่งออกปีละประมาณ 800,000 ตัน ทรงตัวระดับนี้มาแล้ว 2-3 ปีเช่นเดียวกัน
เขากล่าวว่าปริมาณการจับทูน่าไม่เพิ่มขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาทูน่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2550 ราคาทูน่าอยู่ที่ตันละประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปี
2554 สูงขึ้นเป็นตันละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ความต้องการของผู้บริโภคยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าผลิตภัณฑ์ทูน่าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก
อย่างไรก็ดีจากการที่วัตถุดิบไม่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ผลิตของไทยต้องปรับตัวด้านผลิตภัณฑ์โดยเพิ่มผักหรือส่วนผสมชนิดอื่นเข้าไปในผลิตภัณฑ์ทูน่า
อนึ่ง ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่าอันดับหนึ่งของโลก โดยมีตลาดรองรับมากกว่า 200 ประเทศ รองลงมาคือฟิลิปปินส์ เอกวาดอร์ ปี 2551 ส่งออกปริมาณ
597,025 ตัน มูลค่า 71,758 ล้านบาท ปี 2552 ปริมาณ 615,220 ตัน มูลค่า 64,045 ล้านบาท ปี 2553 ปริมาณ 658,612 ตัน มูลค่า 64,652 ล้านบาท ปี 2554
ปริมาณ 645,702 ตัน มูลค่า 74,907 ล้านบาท