เช็กราคาเหล็กปีนี้มี 2 ปัจจัยกดดัน
สถาบันเหล็กฯ ประเมินแนวโน้มราคาเหล็กปีนี้ยังผันผวน แต่มีทิศทางทรงตัว เหตุมี 2 ปัจจัยช่วยดึงราคา ทั้งราคาน้ำมันที่อาจดันเหล็กแพงขึ้นเล็กน้อย แต่จะติดเพดานดีมานด์ในตลาดโลกไม่ฟื้น "เชาว์ สตีล" เคาะราคาบิลเล็ตเคลื่อนไหวไม่เกิน 10% มั่นใจเหล็กไทยไม่หวั่นราคาผันผวน แต่ยังห่วงปัจจัยการเมืองในประเทศ
นายวิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์เหล็กในปีนี้ว่า สถานการณ์ราคาเหล็กน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว โดยผู้ผลิตในต่างประเทศคาดการณ์ว่าภาพรวมราคาเหล็กจะยังไม่ขยับลง ขณะที่มุมมองจากกลุ่มผู้ใช้เหล็กมองว่าราคาเหล็กจะไม่ปรับตัวสูงขึ้น แต่สาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ราคาเหล็กปรับสูงขึ้นเล็กน้อยคือความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ความต้องการใช้เหล็กโดยรวมยังไม่สูงขึ้นมากนัก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางอีกทั้ง จีนมีแนวโน้มจะลดการบริโภคเหล็กลงจากมาตรการเข้มงวดของรัฐบาลกลางที่ต้องการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของจีน
ทั้งนี้ รายงานของสถาบันเหล็กฯ ได้ระบุถึงผลการวิเคราะห์ของสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) ที่ปรับตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กโดยรวมในปี 2555 ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 4.5% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลดลงจากเดิมที่เคยระบุไว้ว่าจะเติบโต 5.4% ด้านนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมจาก บลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในปีนี้อาจชะลอตัวที่อัตรา 1.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยมีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และปัญหาของยุโรป ซึ่งคำสั่งซื้อสินค้าที่ต้องใช้เหล็กทั้งบ้าน รถยนต์ และเครื่องจักรกล จะชะงักงันตามไปด้วย และส่งผลต่อราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่ดีในปีนี้
ขณะที่สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์สได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ 9 ประเทศในสหภาพยุโรปในวันที่ 13 มกราคม 2555 ซึ่งชี้ให้เห็นว่านโยบายต่างๆ ที่ดำเนินอยู่นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และคาดว่าปริมาณการค้าเหล็กในโลกอาจตกลงมากถึง 5% ในปี 2555 หลังจากที่ได้คาดการณ์การเติบโต 6.2% อยู่ที่ 410 ล้านตันในปี 2554
สำหรับราคาเหล็กเผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในปี 2555 คาดว่าราคาเฉลี่ยอาจอยู่ที่ 734 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปรับลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 772 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยวิกฤติการทางการเงินในยุโรปจะส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กต้องลดผลผลิต และทำให้การนำเข้าแร่เหล็กลดลงด้วยในปีนี้
สอดคล้องกับนายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว (บิลเล็ต) ในประเทศไทย กล่าวว่า ราคาเหล็กในปี 2555 น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวหรือขยับขึ้นเล็กน้อย และคงอ่อนตัวลงได้ยาก และไม่มีทางที่จะผันผวนอย่างรุนแรง ดังนั้นราคาจึงน่าจะไต่ระดับใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ราคาสินแร่ในตลาดโลกมีราคาเฉลี่ยประมาณ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือประมาณ 4,200 บาทต่อตัน (คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำ และวิ่งอยู่ในกรอบไม่เกิน 100-180 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือ 3,000-5,400 บาทต่อตัน ส่วนราคาเศษเหล็กเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนราคาบิลเล็ตในปีนี้ ก็น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเช่นกันคือ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาทต่อตัน และจะเคลื่อนไหวทั้งในทางบวกและทางลบไม่เกิน 10% ทั้งนี้ประเมินว่าตลาดในประเทศไทยในปีนี้จะมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงการก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดในประเทศจะมีความต้องการสูง แต่สำหรับประเด็นเรื่องราคาต้องติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดโลกควบคู่กันไปด้วย
"ปัจจัยบวกสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไทยในปีนี้ คือความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ภาครัฐต้องเร่งผลักดัน หากรัฐบาลมีเสถียรภาพก็จะผลักดันให้โครงการต่างๆ เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว" นายอนาวิล กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงคือภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงรุนแรงก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมได้ ส่วนความผันผวนของราคาเหล็กนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารความเสี่ยงได้ เพราะมีประสบการณ์มาแล้วจากกรณีที่ราคาเหล็กมีความผันผวนอย่างหนักเมื่อ 2-3 ปีก่อน ดังนั้นหากราคาผันผวนในระดับ 50-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือ 1,500-3,000 บาทต่อตัน จะยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,712 9-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555