ซีแวลูกรุ๊ป'ลั่นผงาดรับปีมังกร
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์"ซีแวลู" ลั่นกลอง ประกาศพร้อมรบปีมังกรทองเต็มพิกัด ตั้งเป้าปั้นยอดขายทูน่า-ปลาซาร์ดีนกระป๋องทะลุ 26,000 ล้านบาท หลังซุ่มผ่าตัดใหญ่ 2 บริษัทในเครือทั้งยูนิคอร์ด-ไอ.เอส.เอ.แวลู มานาน 6 ปีเต็ม เล็งขึ้นแท่นเบอร์ 1 เจ้าตลาดปลาซาร์ดีนกระป๋องในประเทศ เผยสั่งซื้อวัตถุดิบตุนผลิตได้ตลอดทั้งปี มี 4 ปัจจัยเสี่ยงต้องเผชิญ โชว์กลยุทธ์รับมือ มั่นใจเอาอยู่
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานบริหาร บริษัท ซีแวลู จำกัด (SEA VALUE) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่ซีแวลูได้เข้าซื้อกิจการ(เทกโอเวอร์)บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด(มหาชน) และบริษัท ณรงค์แคนนิ่ง จำกัด(ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นไอ.เอส.เอ.แวลู) ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องซึ่งมีโรงงานผลิตบริษัทละ 2 โรงงานรวม 4 โรงงาน เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ได้ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2,500 ล้านบาท ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆให้มีความทันสมัย รวมถึงการจัดทัพบุคลากร และทีมงานของทั้งสองบริษัทใหม่ ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมาถือเป็นปีสุดท้ายของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงทั้งสองบริษัทครั้งใหญ่ ถึงวันนี้ซีแวลูกรุ๊ป มีความพร้อมแล้วที่จะกลับมาผงาดในวงการอุตสาหกรรมปลาทูน่าและปลาซาร์ดีนกระป๋องทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน สามารถแข่งขันได้กับทุกรายในอุตสาหกรรมเดียวกัน
สำหรับในปี 2555 ซีแวลูกรุ๊ปได้ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมไว้ที่ 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มียอดขายประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวน 26,000 ล้านบาทนี้ตั้งเป้าจะเป็นรายได้จากผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องแบรนด์ "ซูเปอร์ ซีเชฟ"ทั้งปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศ ปลาซาบะบรรจุกระป๋อง และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อจำหน่ายในประเทศ มูลค่า 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องในประเทศมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และปลาซาร์ดีนกระป๋อง
" ผลิตภัณฑ์ของเรามีการส่งออกไปยังหลายกลุ่มประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลางยุโรปตะวันออก ตลาดปลากระป๋องในประเทศถือว่าแพ้แค่แบรนด์ 3 แม่ครัวเพียงเจ้าเดียว แต่ปีนี้คาดว่าจะสูสีแน่นอนเพราะเราได้สั่งซื้อปลาวัตถุดิบไว้ในสต๊อก และทำสัญญาสั่งซื้อจากต่างประเทศสามารถใช้ได้ถึงสิ้นปีไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน ซึ่งจะได้ทยอยออกโปรดักต์ใหม่ๆ ออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง"
นายพจน์ กล่าวถึง ปัญหาอุปสรรคการทำธุรกิจในปี 2554 ที่ผ่านมาว่า มีอุปสรรคใน 3 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือการขาดแคลนวัตถุดิบ และมีราคาแพงมาก โดยระดับราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในตลาดโลกตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคมที่ผ่านมาแตะถึงระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุดราคาในเดือนมกราคม 2555 ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน คาดเดือนกุมภาพันธ์จะอยู่ระดับเดียวกัน สำหรับวัตถุดิบปลาทูน่าแพงมีหลายสาเหตุ ที่สำคัญได้แก่ 1.จากปรากฏการณ์ลานินญ่า ทำให้จับปลาได้ลดลง 2.การออกมาปกป้องความยั่งยืนของอาหารทะเลของหลายองค์กร เช่น MSC , ISSF กลุ่มกรีนพีซ ทำให้การจับปลามีความเข้มงวดมากขึ้น 3.ความต้องการบริโภคปลาทูน่า และปลาซาร์ดีนในหลายภูมิภาคของโลกได้ขยายกว้างขวางมากขึ้น ทำให้การจับปลาเพื่อบริโภคเองในประเทศมีมากขึ้น วัตถุดิบเพื่อการผลิตทูน่าและปลากระป๋องของโลกจึงลดลง 4.การประกาศขยายเวลาห้ามจับปลาในเขตเวสต์เทิร์นแปซิฟิกจาก 3 เดือนเป็น 4 เดือน(ก.ย.-ต.ค.) และลดเวลาทำการของการจับปลาของเรือที่ได้ไลเซนส์จาก 30,000 วันทำการ เหลือ 25,000 วันทำการ(จำนวนเรือที่ได้ไลเซนส์ทั้งหมดหารจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตเช่น 300 ลำออกจับปลาพร้อมกันถือเป็น 300 วัน)
อุปสรรคเรื่องที่ 2 การขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และเรื่องที่ 3 การปรับขึ้นราคาขององค์ประกอบการผลิตทั้งน้ำมันเตา น้ำมันพืช แผ่นเหล็กใช้ผลิตกระป๋องบรรจุ
"อุปสรรคทั้ง 3 ประการข้างต้นในปีนี้เรายังต้องเผชิญต่อเนื่อง ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันที่จะทำให้ทุกโรงงานมีต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการขายสินค้าเพราะเราไม่สามารถปรับราคาได้ตามต้นทุนที่สูงขึ้นจริง แต่จากอุตสาหกรรมทูน่าของไทยที่ถือว่ามีศักยภาพในการแปรรูปและการทำตลาดดีสุดของโลก ดังนั้นในทุกกรณีก็ยังต้องมาซื้อจากไทย แต่ก็คงเป็นปัญหาของแต่ละโรงงานที่จะต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ ในส่วนของซีแวลูกรุ๊ปเราได้เตรียมพร้อมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มกำลังผลิต (ปัจจุบันมีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 740 ตันวัตถุดิบต่อวัน)โดยนอกจากการเพิ่มเครื่องจักรอุปกรณ์แล้ว ได้ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและเพิ่มผลตอบให้แก่คนงานที่มีอยู่ 12,000 คนในทุกโรงรวมกัน การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และลดการใช้วัตถุดิบปลาทูน่าให้น้อยลง เป็นต้น"
ที่มา : www.thanonline.com (จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,708 26-28 มกราคม พ.ศ. 2555)